ประกาศ ‘ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา’ ฉันทมติภาคีสมัชชาฯ ใช้เป็นข้อตกลงร่วม วางกติกาพื้นที่-ราคา ‘ร่มเตียง-นวดแผนไทย’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 เคาะฉันทมติประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา” เป็นข้อตกลงร่วมของประชาชน-นักท่องเที่ยว ครอบคลุมมิติเชิงสุขภาพ-ความปลอดภัย-สิ่งแวดล้อม พร้อมประกาศใช้ธรรมนูญฯ 2 กลุ่มอาชีพ สร้างกติกาให้ผู้ประกอบการ “ร่มเตียง-นวดแผนไทย” ตามชายหาดใช้เป็นแนวทางการให้บริการ กำหนดอัตราค่าบริการ พร้อมมีมาตรการทางสังคมกรณีฝ่าฝืน

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี สมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2566 ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) “เมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสุขภาพ” โดยมีภาคีเครือข่ายกลุ่มต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชนและเอกชน รวมกว่า 300 คนเข้าร่วม ณ โรงแรมแกรนด์ พาลาสโซ่ พัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์


ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ได้ร่วมกันรับรองฉันทมติใน 2 ระเบียบวาระ ประกอบด้วย 1. ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา 2. ธรรมนูญกลุ่มอาชีพ (กลุ่มอาชีพนวดแผนไทย และกลุ่มอาชีพร่มเตียง ในชายหาดเมืองพัทยา) ก่อนที่จะมีการร่วมกันประกาศใช้ธรรมนูญ 3 ฉบับ ได้แก่ “ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา” “ธรรมนูญกลุ่มอาชีพ ร่มเตียง ชายหาดเมืองพัทยา” และ “ธรรมนูญกลุ่มอาชีพ นวดแผนไทย ชายหาดเมืองพัทยา” โดยได้มีการส่งมอบธรรมนูญฉบับต่างๆ ให้กับผู้แทนชุมชน รวมทั้งผู้แทนกลุ่มอาชีพ เพื่อผลักดันสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป
 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์


นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ในฐานะประธานคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา (คจ.สพ.) เปิดเผยว่า “ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา” ถือเป็นข้อตกลงและพันธะร่วมกันของทุกภาคส่วนในเมืองพัทยา ให้เป็นกรอบทิศทางหรือแนวปฏิบัติในการนำไปสู่สุขภาวะของเมือง บนแนวคิดและเป้าหมายของระบบสุขภาพ ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม การเพิ่มความปลอดภัย การส่งเสริมอาชีพ การศึกษา การท่องเที่ยว ฯลฯ พร้อมกำหนดให้มีการทบทวนธรรมนูญฯ ในทุก 5 ปี


ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์


สำหรับธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา เป็นข้อเสนอที่ถูกรับรองและเป็นฉันทมติร่วมกันมาแล้วบนเวทีสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2565 โดยเป็นมติให้ คจ.สพ. ดำเนินการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยาขึ้น ด้วยกลไกการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนครอบคลุมทุกพื้นที่ในเมืองพัทยา ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และนำเสนอต่อเวทีสมัชชาสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ รวมทั้งนำเสนอต่อนายกเมืองพัทยาและสภาเมืองพัทยา เพื่อนำไปบูรณาการกับแผนพัฒนาเมืองพัทยาในระยะต่อไป
 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์


ในขณะที่ “ธรรมนูญกลุ่มอาชีพ ร่มเตียง ชายหาดเมืองพัทยา” และ “ธรรมนูญกลุ่มอาชีพ นวดแผนไทย ชายหาดเมืองพัทยา” จะเป็นข้อตกลงร่วมสำหรับผู้ประกอบการร่มเตียง ผู้ประกอบการนวดแผนไทย รวมถึงชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ชายหาดเมืองพัทยาเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องของการบริหารจัดการ ภายใต้มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ รูปแบบการให้บริการ อัตราค่าบริการ ตลอดจนการกำหนดข้อห้าม และมาตรการทางสังคมในกรณีที่มีการฝ่าฝืน
 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์


นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยว การสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสุขภาพ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เองก็มีนโยบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ครอบคลุม ‘DEL’ คือ Diet อาหารดี, Exercise ออกกำลังกาย และ Lifestyle วิถีชีวิต การผ่อนคลายความเครียด ที่ทั้งหมดจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการให้กับนักท่องเที่ยวได้
 

อภิรัต กตัญญุตานนท์


นพ.อภิรัต กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ความเป็นเมืองพัทยาก็ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้น หากแต่การส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองเองก็ต้องมีความสำคัญ ซึ่งการเกิดขึ้นของธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา ที่ทุกภาคส่วนมาร่วมกันเขียนเป็นข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ เชื่อว่าจะมีส่วนช่วย สร้างความสุขให้ทั้งนักท่องเที่ยวและคนที่อยู่อาศัย ตรงตามหลักการของเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสุขภาพ พร้อมหวังว่าทุกฝ่ายจะเข้ามาร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ทั้งหมดนี้ต่อไปให้เกิดความยั่งยืน
 

อภิรัต กตัญญุตานนท์


ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายทางสุขภาพในสังคมเมืองปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ โรคไม่ติดต่อ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และเชื่อมโยงไปถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตของผู้คนได้ทั้งหมด ซึ่งการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพก็ไม่สามารถพึ่งพาระบบบริการสาธารณสุขได้เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือจุดที่คนจะใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด นั่นคือตัวเราเองและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
 

ปรีดา แต้อารักษ์


“เมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ และต้องเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ต้องชื่นชมวิสัยทัศน์ของผู้นำและเครือข่ายสมัชชาฯ ที่นำเอาความคิดด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมิติต่างๆ มาสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมเป็นที่แรกๆ จนเกิดสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยาขึ้น พร้อมดอกผลจากฉันทมติที่ได้ออกมาเป็นธรรมนูญกลุ่มต่างๆ ในครั้งนี้ แต่การจะทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ก็ต้องอาศัยหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนข้อตกลงเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติจริงร่วมกัน” นพ.ปรีดา กล่าว
 

ปรีดา แต้อารักษ์

 

รูปภาพ