เดินหน้านโยบายสาธารณะ ‘เมืองพัทยา’ สร้างเมืองการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ ด้วย 6 ประเด็น 41 แนวทางจากทุกภาคส่วน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.-ภาคีเครือข่ายเมืองพัทยา ร่วมเปิดเวที “สมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1” พร้อมเสวนาการสร้างนโยบายสาธารณะ “เมืองท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อสุขภาพ” เดินหน้าบน 6 ประเด็น 41 แนวทาง จากการตกผลึกภาพอนาคตพัทยาของทุกภาคส่วน พร้อมเตรียมร่าง “ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา” วางกรอบกติกาสู่เมืองสุขภาวะดีของทุกคน
 

สมัชชาสุขภาพสากล


เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย เมืองพัทยา จ.ชลบุรี สมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา และภาคีเครือข่าย ได้จัดเวทีเสวนา การสร้างนโยบายสาธารณะ “เมืองการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ 1 พ.ศ.2565 ที่ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชนเมืองพัทยา ได้ร่วมกันจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อรวมพลังเสนอทางออกปัญหาสุขภาวะในเมืองพัทยา สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สมัชชาฯ เมืองพัทยา ที่มีการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ระเบียบวาระหนึ่งที่จะร่วมกันพิจารณาคือการสร้าง ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา ซึ่งจะเป็นกระบวนการสำคัญที่คนพัทยาได้มาร่วมกันมองภาพอนาคตของเมืองในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมทั้งให้ข้อเสนอและกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองร่วมกัน เพื่อส่งต่อเมืองที่ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ ไปสู่ลูกหลานในอนาคต
 

ปรีดา แต้อารักษ์


นพ.ปรีดา กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยาที่ร่วมกันร่างขึ้นมานี้ จะเป็นกรอบทิศทางหรือกติกาของคนพัทยาทุกคน ซึ่งไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเมือง หรือข้าราชการเพียงลำพัง แต่ทุกภาคส่วน คือ ประชาชน ชุมชน เอกชน และภาครัฐ จะต้องเข้ามาร่วมกำหนดกติกาและร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการตามที่ได้ตกลงเอาไว้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ทุกคนได้ร่วมออกแบบและวางภาพร่วมกัน

“ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา จึงเป็นเหมือนการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบร่วมกัน อีกทั้งเมื่อพื้นที่ทำให้ประชาชนร่วมรู้สึกเป็นเจ้าของแล้ว ประชาชนก็จะร่วมกันดูแลและรักษาเอาไว้อย่างแข็งขัน และทำให้ทุกอย่างดียิ่งขึ้น จากการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนตามที่ตกลงกัน” นพ.ปรีดา กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สำนัก 7) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมืองการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ ความหมายหนึ่งคือการเป็นเมืองที่มีผู้เสียชีวิตน้อย และมีผู้คนอายุยืนยาว ซึ่งเมืองพัทยามีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาไปสู่เมืองการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพได้ หากแต่ศักยภาพที่ว่าไม่ได้นับเฉพาะภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่คือทุกภาคส่วนของสังคมเมืองพัทยาที่สามารถเข้ามาร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริงได้
 

พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์


“สุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องอาการเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมให้เกิดสุขภาพดีขึ้นอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงมิติทางสังคมและชุมชนที่ดีด้วย เพราะหากสังคมชุมชนมีความปลอดภัยดี ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข มีพื้นที่สาธารณะที่เพียงพอต่อผู้คนในเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ก็จะส่งผลที่ดีต่อมิติทางสุขภาพไปด้วย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ขณะที่ ดร.สมนึก จงมีวศิน ประธานอนุกรรมการวิชาการสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา กล่าวว่า หากต้องการสร้างให้เกิดเมืองการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ เมืองพัทยาเองก็จะต้องมีสุขภาพที่ดีก่อน ซึ่งกระบวนการสมัชชาฯ เมืองพัทยา ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ก็เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคมเมืองพัทยา ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้ามาเสนอความคิดเห็น พร้อมกับหาแนวทางร่วมกันในการจัดการปัญหาของเมืองพัทยา เพื่อกำหนดเป้าหมายในอนาคตที่เป็นการพัฒนาเมืองพัทยาร่วมกัน
 

สมนึก จงมีวศิน


ดร.สมนึก กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันขับเคลื่อนและเสนอความคิดเห็น ผ่านกระบวนการจัดกิจกรรม Health Hack จนตกผลึกได้ออกมาเป็น 6 ประเด็น 41 แนวทางในการพัฒนาพื้นที่ พร้อมกับ 2 ระเบียบวาระที่จะมีมติร่วมกัน คือ 1.ธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา และ 2. การจัดการพื้นที่สาธารณะทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการนำข้อเสนอที่ตกผลึกร่วมกันไปสู่การปฏิบัติที่จะทำให้สังคมภาพรวมได้ประโยชน์มากที่สุด

ด้าน ผศ.ดร.พัชนา เฮ้งบริบูรณ์พงศ์ ใจดี รองประธานอนุกรรมการวิชาการสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา กล่าวว่า กระบวนการการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาเมืองพัทยาในครั้งนี้ ถือว่าแตกต่างจากเดิมที่นโยบายจะถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง หรือภาครัฐ แต่ครั้งนี้ภาคประชาชนได้ใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพ เป็นนวัตกรรมสำคัญในการสร้างนโยบายสาธารณะด้วยความต้องการของคนพัทยาเอง เพื่อส่งต่อข้อเสนอแนวนโยบายของภาคประชาชนไปสู่ภาครัฐ เพื่อให้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนจากมติที่ประชาชนต้องการ
 

พัชนา เฮ้งบริบูรณ์พงศ์ ใจดี


“ตัวแทนทุกภาคส่วนของเมืองพัทยา ที่ได้มาเข้าร่วมกระบวนการสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา จะเข้าไปเป็นแกนหลักที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนของสังคมพัทยาได้ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เมืองพัทยาในอนาคตเป็นเมืองการท่องเที่ยว ที่เป็นมิตรกับสุขภาพได้ในทุกมิติ” ผศ.ดร.พัชนา กล่าว
 

ปรีดา แต้อารักษ์

 

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

 

พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

 

ปรีดา แต้อารักษ์

 

พัชนา เฮ้งบริบูรณ์พงศ์ ใจดี

 

สมนึก จงมีวศิน

 

 

รูปภาพ
สมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา