- 98 views
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 65 นายกเมืองพัทยาพร้อมด้วยคณะทำงานและภาคีเครือข่ายเมืองพัทยา ร่วมกับ สช. นำโดยเลขาธิการและรองเลขาธิการ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนายุทธศาสตร์และขยายผลกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครกับเมืองพัทยา ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา เพื่อกำหนดทิศทางร่วมกัน และเสริมสร้างกระบวนการที่นำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของทั้งสองพื้นที่ ซึ่งเป็นเขตการปกครองรูปแบบพิเศษเหมือนกัน
ในที่ประชุมนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยาและกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะทำงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชนเมืองพัทยา เห็นตรงกันว่าเมืองพัทยาจะมีการจัดสมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยาครั้งแรกขึ้น ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565 โดยจะเน้นขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ (1) เมืองท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพ (2) ธรรมนูญเมืองพัทยา และ (3) หาบเร่แผงลอยและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะผลักดันให้สอดคล้องกับ 4 เป้าหมายและ 15 นโยบายของนายกเมืองที่พัทยา ที่อยากให้พัทยาเป็นเมืองน่าอยู่ น่าลงทุนของคนทั้งโลก โดยในระหว่างนี้เพื่อให้สมัชชาสุขภาพเมืองพัทยาเดินหน้าต่อ คณะทำงานเมืองพัทยาจะมีการจัดประชุมและทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม รวมถึงจะมีทีมงานของ สช. เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการดำเนินงานด้วย
นอกจากนั้น ในที่ประชุมยังมีการแลกเปลี่ยนบทเรียนคนทำงานจากกรุงเทพมหานครในการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพ นำโดย นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ พญ.สุธีร์ สฤษฎิ์ศิริ และนายยศพล บุญสม ซึ่งพบว่ากลไกสำคัญของการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร คือการสานพลังกันระหว่างผู้คน งาน และงบประมาณ เน้นการระดมทรัพยากรและการมองหาภาคีเครือข่ายที่จะชักชวนมาทำงานร่วมกัน ด้านเครือข่ายคนทำงานของเมืองพัทยาได้แสดงความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรมีพื้นที่ให้ชุมชนคนเมืองพัทยาได้มาแลกเปลี่ยนร่วมกัน ซึ่งมีทั้งสิ้น 40 ชุมชน รวมถึงชุมชนในนัยยะของคนที่เข้ามาทำงานหรือใช้ชีวิตในพัทยา เช่น ชุมชนพนักงานบริการด้วย
สำหรับบรรยากาศของการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปอย่างคึกคัก มีหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุมทั้งรูปแบบ on-site และ online ได้แก่ ผู้บริหารเมืองพัทยา, คณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยา, มูลนิธิมหาไถ่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, มูลนิธิ SWING, ชมรมเบาหวานพัทยา, ผู้แทนชุมชนนาเกลือ, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี, พอช., ผู้แทนกรุงเทพมหานคร, สสส., ศูนย์บริหารสาธารณสุขที่ 67, กลุ่ม We Park, สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่และศูนย์ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะกรุงเทพมหานคร สช.
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมเชิงปฏิบัติการ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ และ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของมูลนิธิมหาไถ่ฯ ด้วย ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการจ้างคนพิการในเมืองพัทยามากว่า 40 ปี