จากโลกสู่ไทย จนถึงขณะนี้มีความพยายาม “ส่งไม้ต่อ” จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะมิติการมีส่วนร่วมทางการเมือง-การพัฒนานโยบายสาธารณะของเยาวชน ที่มากไปกว่าเพียงแค่การเป็น “โหวตเตอร์” ในการเลือกตั้งแล้วจบไป
นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้ ภายใต้เนื้อหาที่สนับสนุนให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย มีสิทธิและส่วนร่วมในการสร้างสังคมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ได้เดินหน้าตามเจตนารมณ์ พร้อมระดมให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากองค์ประกอบของกลไก “สามเหลี่ยม” ที่มีภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมแล้ว บทบาทของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทาง สช. ได้พยายามเพิ่มพื้นที่ ขยายบทบาทให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ร่วมแก้ไขปัญหาที่เป็นประเด็นสาธารณะในสังคม
สมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สช. อธิบายว่า การดึงเอาส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้น อันที่จริงมีมานับตั้งแต่ยุคแรกในการทำงานของ สช. ซึ่งได้มีความพยายามที่จะผลักดันแนวคิด สร้างความรู้ความเข้าใจต่อกระบวนการนโยบายสาธารณะ ให้เข้าสู่ระบบการศึกษา เพียงแต่ในช่วงแรกนั้นอาจยังไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะกิจกรรมสำคัญที่ สช.มีอยู่ อย่างการจัดเวที “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งมีการจัดขึ้นในทุกปี จึงได้มีการนำเอากลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่เรียนอยู่ในสายสุขภาพหรือด้านสาธารณสุข ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสมัชชาสุขภาพ โดยอาจเข้ามาเป็นอาสาสมัครร่วมปฏิบัติหน้าที่ภายในงาน
“แต่การมีส่วนร่วมก็ทำได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะนิสิตนักศึกษากลุ่มนี้อาจเข้ามาร่วมในช่วงสั้นๆ ไม่ได้เรียนรู้กระบวนการทั้งหมด ดังนั้นในช่วงระยะหลังเราจึงอยากพัฒนาตรงนี้ให้มากขึ้นอีก โดยเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เรียนรู้ และมีบทบาทในกระบวนการนโยบายสาธารณะให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีหลัง ที่เราเริ่มเห็นช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่น มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องมากขึ้น แต่ก็ยังมีพื้นที่ในการแสดงออก สะท้อนความต้องการได้น้อยอยู่” สมเกียรติ อธิบายภาพที่เกิดขึ้น
นั่นจึงทำให้ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ เป็นต้นมา ได้เกิดจุดเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่สำคัญ ในการขยายการมีส่วนร่วมของเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านโครงการ “Young ทำได้” ซึ่งสนับสนุนให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะ เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็น และร่วมขับเคลื่อนสังคม (Social Movement) ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายและสร้างสรรค์
กระนั้น แม้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้กระบวนการนโยบายสาธารณะ ผ่านการ “จำลอง” รูปแบบของการพัฒนาประเด็นขึ้นมาด้วยตัวของพวกเขาเอง แต่คำถามที่ตามมาคือสิ่งที่พวกเขานำเสนอขึ้นมานี้ ปลายทางจะไปสู่จุดไหน แล้วจะสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างไรต่อ?
เมื่อมาถึงคราวของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ซึ่งมีประเด็นหลัก (Theme) คือ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ความท้าทายใหม่ของกิจกรรมนี้จึงเป็นการเปิดกว้าง ขยายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและทุกกลุ่มคนในสังคมให้กว้างขวางกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นต่อไป (Next Generation) ที่จะเข้ามาเป็นผู้ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
“ไม่เพียงแต่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่เรายังจะมีเครื่องมือ มีกิจกรรมอื่นๆ ที่จะส่งเสริมแนวคิดเรื่องของกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ให้กลายเป็นแนวคิดหลักของประเทศและถูกนำไปปรับใช้ โดยเฉพาะในระบบการศึกษาที่ล่าสุด สช. ได้ร่วมมือกับ ม.มหิดล พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ ที่จะสร้างการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ และเตรียมขยายไปสู่ที่อื่นๆ ต่อไป” ผอ.สำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สช. ทิ้งท้าย
- 582 views