“การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19” 1 ใน 3 ระเบียบวาระของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2564 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

สช. ชักชวนภาคีเครือข่าย-สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ เปิดเวทีจัดทำข้อเสนอ “การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19” รอบแรก ก่อนเสนอเข้าสู่ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14” เพื่อแสวงหาฉันทมติ แก้ปัญหาขยะ-การท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ-การพัฒนาเมือง
 

สช. เปิดฉาก ‘จัดทำข้อเสนอ’ ประชาชน


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 เพื่อพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 1 เรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ระเบียบวาระของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2564 และจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่จะขึ้นในวันที่ 15-16 ธ.ค. นี้

สำหรับระเบียบวาระดังกล่าว มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ภายหลังพบว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และหลังวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม


ทั้งนี้ จึงมีการจัดทำข้อเสนอในประเด็น การจัดการสิ่งแวดล้อมจากปัญหาขยะ เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายร่วมทำตามหลักการ 3R การจัดการขยะติดเชื้ออย่างเป็นระบบ การจัดการสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ ศึกษาวิจัยความสามารถในการรองรับของพื้นที่

การจัดการสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การบูรณาการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า ลดมลพิษ การจัดการสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างมีสุขภาวะ เช่น พัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับปัญหาและบริบท เพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายพลังพลเมือง เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะที่ยั่งยืน เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มเครือข่ายประชาชน เยาวชน ทั้งด้านความรู้ ทรัพยากร หรือเครื่องมืออย่างจริงจัง

สำหรับข้อเสนอต่างๆ จะต้องได้รับฉันทมติในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อมติ


นพ.กิจจา เรืองไทย เป็นประธานการพิจารณาระเบียบวาระฯ เปิดเผยว่า การพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 1 ในครั้งนี้ ประชุมส่วนใหญ่ไม่ได้มีข้อโต้แย้งต่อเนื้อหาในร่างมติหรือข้อเสนอต่างๆ แต่มีการขอให้เพิ่มเนื้อหาในบางส่วนที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่ครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติ การเพิ่มบางหน่วยงาน หรือการระบุหน่วยงานที่ชัดเจนในการรับผิดชอบ ซึ่งสมาชิกสมัชชาฯ ยังคงสามารถให้ความเห็นเพิ่มเติมได้ไปจนถึงวันที่ 20 ต.ค. 2564
 

กิจจา เรืองไทย


“ตัวอย่างเช่นเรื่องของการคัดแยกขยะ หลายคนบอกกันว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อให้เกิดการปฏิบัติได้จริง หลายคนแยกขยะไว้แต่สุดท้ายก็ถูกเอาไปรวมแบบนี้เป็นต้น หรือเนื้อหาหลายส่วนที่มีการพูดถึงการให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน หลายคนก็อยากให้มีการระบุชัดเจนว่าคือใคร หรือหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้ลงไปสู่การปฏิบัติจริงได้” นพ.กิจจา ระบุ
 

อนึ่ง ระเบียบวาระที่ 2.1 การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 ได้จัดให้มีการพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 1 ในวันที่ 4 ต.ค. 2564 และเปิดรับความเห็นจนถึงวันที่ 20 ต.ค. 2564 ก่อนจะมีการพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 2 ในวันที่ 10 พ.ย. 2564 จากนั้นจึงจะเข้าสู่การให้ฉันทมติต่อระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 วันที่ 15 ธ.ค. 2564

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
Kick off สมัชชาสุขภาพฯ สร้างสิ่งแวดล้อมยั่งยืน