- 148 views
สช.ระดมภาคีภาควิชาการ-สังคม ร่วมให้ความเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์ฯ HIA ฉบับที่ 3 หาวิธีส่งเสริมภาคประชาชน-ท้องถิ่น มีส่วนร่วมประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ใช้กำหนดทิศทางนโยบายสาธารณะได้มากขึ้น พร้อมเชื่อมโยงกฎหมายอื่นๆ นำ HIA ไปใช้ในกระบวนการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมระดมสมองเพื่อรับฟังความคิดเห็นภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ประชาสังคมและชุมชน ต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ฉบับที่ 3 (ร่างที่ 1) เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 เพื่อให้หน่วยงานองค์กรภาคีและเครือข่ายได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคีเครือข่ายต่อร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับดังกล่าว
น.ส.สมพร เพ็งค่ำ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงคือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ในการตัดสินใจโดยตรง แต่เป็นเครื่องมือในการแสวงหา รวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจนโยบาย แผนงานหรือโครงการต่างๆ เพื่อคาดการณ์อนาคตว่านโยบายหรือโครงการนั้นจะมีผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างไร ในมิติของสุขภาพ สุขภาวะ แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่จะตัดสินใจคือฝ่ายนโยบาย
น.ส.สมพร กล่าวว่า นอกจาก HIA แล้ว การประเมินผลกระทบในประเทศไทยยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ผลกระทบสังคม (SIA) ผลกระทบสุขภาพโดยชุมชน (CHIA) ตลอดจนผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจและเห็นภาพใหญ่ของระบบ ว่าแต่ละหน่วยงานมีเครื่องมือเพื่อประกอบการตัดสินใจอยู่แล้ว ซึ่งตามหลักจะเป็นตัวอะไรก็ได้ แต่หากยังเห็นว่าขาดจุดใด เช่น สุขภาพ HIA ก็สามารถสร้างความเชื่อมโยงและร่วมเติมเต็มจุดนั้นได้
ดร.นาตยา พรหมทอง หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาและขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สช. กล่าวว่า ส่วนสำคัญของร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 3 ที่มีการปรับปรุงจากฉบับที่ 1 และ 2 คือการปรับปรุงนิยามของ HIA จากเดิมที่ให้ความหมายเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ดังนั้นในฉบับที่ 3 นี้จึงได้เปลี่ยนนิยามของ HIA ให้เป็นการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงานและโครงการ ที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ดร.นาตยา กล่าวว่า ขณะเดียวกันร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับใหม่นี้ยังเป็นการปรับไปใช้แนวทางการจัดประเภทของ HIA ตามช่วงเวลา ขนาด และความรวดเร็วของการดำเนินงาน รวมถึงลดการรวมศูนย์ที่เป็นคอขวดที่ สช. และ คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพออก เพื่อให้สามารถดำเนินการตามบทบาทหน้าที่และบริบทสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น
“โดยสรุปแล้วแนวคิดสำคัญของการทบทวนและพัฒนาร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับนี้ มี 3E คือ การเชื่อมโยงให้เกิดการบังคับใช้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (Enforcement) การสนับสนุนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Engagement) และการเสริมพลังความรู้ความเข้าใจแก่ภาคีและเครือข่าย (Empowerment)” ดร.นาตยา กล่าว
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ประเด็นซึ่งที่ประชุมมีการพูดถึงกันอย่างมาก คือแนวทางการ Empowerment หรือการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย ที่บรรจุอยู่ในข้อ 13 ของร่างหลักเกณฑ์ฯ กรณีบุคคลหรือคณะบุคคลขอใช้สิทธิทำ HIA ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 กับในข้อ 14 ของร่างหลักเกณฑ์ฯ กรณีประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานใด ต้องการนำ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
นพ.ชูชัย กล่าวว่า สิ่งที่ได้มีการอภิปรายกัน ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิ และการเข้าถึงสิทธิของประชาชน ในการร้องขอให้มีการทำ HIA ตามข้อ 13 มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพียงใด บทบาทของภาคีเครือข่ายและแนวทางสนับสนุนการดำเนินการจะเป็นอย่างไร รวมถึงความสมัครใจในการประยุกต์ใช้ HIA เป็นเครื่องมือการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ตามข้อ 14 จะมีบทบาทหรือแนวทางสนับสนุนให้เกิดขับเคลื่อนอย่างไร
“สิ่งที่ต้องนึกถึงมากคือการสนับสนุนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพราะระบบรวมศูนย์ที่ให้อำนาจส่วนกลางเป็นคนกำหนด มักทำความเดือดร้อนให้กับพื้นที่เสมอมา ฉะนั้นเราจะช่วยกันสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นได้อย่างไร โดยปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก เรื่องของข้อมูลความรู้ที่สามารถใช้สื่อออนไลน์ไปกระตุ้นผู้คนได้มากมาย เราจะสามารถสร้างเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพได้ ถ้ามีการเชื่อมโยงทั้งชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และกลไก สช. ที่ให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน” นพ.ชูชัย กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เชื่อมั่นว่า หลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 3 จะมีความชัดเจนมากขึ้น คือจะมีการระบุไว้ว่า หากประชาชนต้องการใช้สิทธิตาม HIA จะต้องทำอย่างไรบ้าง เช่นเดียวกับฟากฝั่งผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง เช่น ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เป็นที่ยอมรับ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งถือกฎหมายต่างๆ ก็จะสามารถบูรณาการหลักเกณฑ์ฯ เข้าไปใช้ได้
“ถ้าเราทำเช่นนี้ ทำให้เป็นหลักเกณฑ์และแนวทางตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน และทำให้มีวิธีปฏิบัติว่าผู้ประกอบการ-เจ้าของโครงการต้องทำอย่างไร ขณะเดียวกันก็ไปบูรณาการร่วมกับเครื่องมือชิ้นอื่น กฎหมายอื่น หน่วยงานอื่น ทำให้เนื้อหาสอดคล้องไปกันได้ทั้ง 3 ฝ่าย โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ผมคิดว่าจะทำให้พัฒนาการของประเทศ ทั้งในแง่การให้เกิดความก้าวหน้า เดินควบคู่ไปกับการคุ้มครองและรักษาสิทธิของประชาชนพอไปกันได้อย่างสมดุล” นพ.ประทีป ระบุ
ทั้งนี้สามารถศึกษาเอกสารและส่งข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาหลักเกณฑ์ฯ ได้ที่ https://www.nationalhealth.or.th/HIAguideline
กลุ่มงานสื่อสารสังคม โทร.086-373-5413