การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์ HIA ฉบับที่ 3 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเปิดรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3 (ร่างที่ 2)

ตามที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ให้การรับรองสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชน ไว้ใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 5 มาตรา 10 และมาตรา 11 ซึ่งบัญญัติให้ บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมทั้งมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม โดยเมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว และบุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ โดยในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง(5) บัญญัติให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 เป็นหลักเกณฑ์ฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในเชิงหลักการและเป้าหมายของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับต่างๆ อย่างยืดหยุ่น แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทางการนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน

ดังนั้นคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จึงเห็นควรให้มีการดำเนินการทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3 ที่จะสามารถเป็นกลไกบูรณาการการขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เชิงระบบผ่านการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเอื้อให้ประชาชน
สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพตามพระระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการฯ (ร่างที่ 1
) ในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564 และได้ประมวลความเห็นและข้อเสนอแนะฯ ดังกล่าว และปรับปรุงแก้ไขเป็นร่างที่ 2 เรียบร้อยแล้ว

ในการนี้ เพื่อให้การพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงขอเผยแพร่ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว รายละเอียดดังเอกสารแนบ 1 - 2 (เอกสาร (ร่าง) หลักเกณฑ์และกลไกการดำเนินงาน) เพื่อให้ภาคีเครือข่าย ได้พิจารณาให้ความเห็นในการพัฒนาให้สมบูรณ์และนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยหากท่านมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โปรดให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะตามแบบสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานและภาคีเครือข่ายฯ ดังแนบ 3 (เอกสารแบบสอบถามและข้อเสนอแนะ) และส่งไปที่

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ หรือส่งทางอีเมลล์ suwicha@nationalhealth.or.th  หรือกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ https://forms.office.com/r/nZKkK7LpH2 ภายในวันที่ 13 สิงหาคม 2564

 

ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กลไกการดำเนินงาน

แบบสอบถามข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็นออนไลน์

แผนการดำเนินงานในการพัฒนาหลักเกณฑ์ HIA ฉบับที่ 3

แผนการดำเนินงาน

 

คำถามที่พบบ่อย HIA

  • HIA คืออะไร
    คำตอบ:

    การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) หมายถึง การคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงานและโครงการ ที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งทางลบ ทางบวก และความเป็นธรรมจากการได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะดังกล่าว โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือที่หลากหลายและมีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนและเสนอต่อกลไกที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจที่จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

  • HIA มีความสำคัญอย่างไร
    คำตอบ:

    การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ให้การรับรองสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชนไว้ใน 3 มาตรา ได้แก่  

    • มาตรา 5 บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมทั้งมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม
    • มาตรา 10 บัญญัติให้กรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว และการเปิดเผยข้อมูลต้องไม่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
    • มาตรา 11 บัญญัติให้บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว
  • HIA ส่งผลกระทบต่อสังคม/ประชาชนอย่างไร
    คำตอบ:

    การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นกระบวนการแสวงหาข้อมูลและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ที่สนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจที่จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น นอกเหนือจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยตรงแล้ว ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ยังสามารถนำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับนโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรม และในระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับชาติ หรือระหว่างประเทศ ซึ่งการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ในขั้นตอนต่างๆ จะเอื้อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ทั้งในขั้นตอนของการประเมินผลกระทบ และการติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันหรือลดผลกระทบเชิงลบ อย่างต่อเนื่องในระยะยาวอีกด้วย

  • หลักเกณฑ์ HIA คืออะไร
    คำตอบ:

    หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ถูกกำหนดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการของกลไกที่เกี่ยวข้อง ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ทั้งในส่วนที่ถูกกำหนดให้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานเพื่อขออนุมัติ/อนุญาตการดำเนินงานโครงการ ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อมูลว่านโยบาย แผนงาน หรือกิจกรรมที่จะดำเนินการนั้น มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติฯ มาตรา 10 และการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติฯ มาตรา 11

  • ทำไมต้องมีหลักเกณฑ์ HIA
    คำตอบ:

    คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่ในการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพฯ เพื่อให้เป็นไปตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง (๕) ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับระบบสุขภาพแห่งชาติและผลกระทบด้านสุขภาพ ที่เกิดจากนโยบายสาธารณะทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ

  • ทำไมต้องมีการพัฒนาหลักเกณฑ์ ฉบับที่ 3
    คำตอบ:

    การพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถบูรณาการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เข้ากับการทำงานตามบทบาทภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นกลไกพัฒนาข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เหมาะสม รวมถึงเอื้อให้เกิดการหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย และการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม โดยเชื่อมโยงให้กลไกต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน HIA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตในปัจจุบัน