รู้จักและเข้าใจ : สิทธิด้านสุขภาพ
คำว่า สิทธิด้านสุขภาพ ปรากฏขึ้นครั้งแรกใน ธรรมนูญขององค์การอนามัยโลก ค.ศ.1946 โดยหมายถึง “การบรรลุซึ่งมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ของสุขภาพ”
สิทธิด้านสุขภาพ ได้การรับรองว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ตาม ข้อ 5 ของปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 ที่ระบุว่า
“ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เพียงพอสำหรับสุขภาพและสุขภาวะของตนเองและครอบครัว ประกอบด้วยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และบริการทางสังคมที่จำเป็น”
สิทธิด้านสุขภาพ เป็นหนึ่งในสิทธิอื่นที่บัญญัติไว้ใน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ค.ศ.1965 ซึ่ง “ห้ามและขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ และรับรองสิทธิให้กับทุกคนโดยไม่เลือกเชื้อชาติ สีผิว หรือแหล่งกำเนิดชาติหรือเผ่าพันธุ์ ให้มีความเสมอภาคในทางกฎหมาย”
ทั้งนี้ สิทธิด้านสุขภาพ ได้รับการรับรองโดยองค์การสหประชาชาติ ดังระบุไว้ในข้อ 12 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) ว่า
“ข้อ 12
ภาคีในกติกาฯ รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้
ขั้นตอนการดำเนินการโดยภาคีในกติกาฯ เพื่อบรรลุผลให้สิทธินี้เกิดขึ้นจริงอย่างสมบูรณ์จะต้องรวมถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับ:
การลดอัตราการเกิดไร้ชีพและภาวะการตายของทารก และเพื่อพัฒนาการของเด็กอย่างสุขภาพดี
การพัฒนาสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและที่ทำงานในทุกด้าน
การป้องกัน รักษา และควบคุมโรคระบาด โรคประจำถิ่น โรคจากการประกอบอาชีพ และโรคอื่น ๆ
การสร้างสภาวะที่รับประกันบริการทางการแพทย์และการดูแลรักษาทั้งหมดแก่ทุกคนในเหตุการณ์ที่มีความเจ็บป่วย”
นอกจากนี้ ได้มีการระบุเพิ่มเติมในข้อวินิจฉัยทั่วไป ฉบับที่ 14 ว่า “สิทธิในสุขภาพเป็นสิทธิครอบคลุมไม่เพียงแต่บริการสุขภาพที่เหมาะสมสอดคล้อง หากยังเน้นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ เป็นต้นว่า การเข้าถึงน้ำดื่มปลอดภัยและสุขอนามัยที่เพียงพอ สภาพแวดล้อมในการทำงานและประกอบอาชีพที่ถูกสุขภาวะ และการเข้าถึงการศึกษาและข้อมูลสุขภาพ นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือการมีส่วนร่วมของประชากรในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งในระดับชุมชน ชาติ และโลก”
รวมถึงมีการระบุเพิ่มเติมว่า “รัฐภาคีมีหน้าที่เคารพสิทธิในสุขภาพ ดังเช่น การละเว้นจากการปฏิเสธหรือจำกัดการเข้าถึงที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน รวมไปถึงผู้ต้องขัง ชนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพผิดกฎหมาย เพื่อให้บริการสุขภาพเพื่อป้องกัน บำบัดรักษา บรรเทาทุกข์ การละเว้นจากการบังคับใช้การเลือกปฏิบัติเป็นนโยบายรัฐ และละเว้นจากการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับสถานภาพและความต้องการด้านสุขภาพของผู้หญิง” อีกด้วย
กล่าวโดยสรุป สิทธิด้านสุขภาพ หมายถึง การบรรลุผลลัพธ์ทางสุขภาพตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยรัฐไทยในฐานะภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 มีหน้าที่จัดให้ทุกคนบรรลุผลลัพธ์ทางสุขภาพตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ตามฐานานุรูปของประเทศ โดยดำเนินการผ่านปฏิบัติการ ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ และประกอบด้วย การมีส่วนร่วม ของประชาชนในการตัดสินใจนโยบายสุขภาพ
สิทธิด้านสุขภาพในบริบทประเทศไทย
“สิทธิด้านสุขภาพ” เป็นหนึ่งในสิทธิของประชาชนคนไทยที่ได้รับการรับรองไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในหมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ซึ่งคำว่า “สุขภาพ” ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ไม่ได้มีความหมายเพียงเรื่องของการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น หากครอบคลุมถึงสุขภาวะ 4 มิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา “สิทธิด้านสุขภาพ” จึงมีความหมายกว้างกว่าสิทธิที่จะได้รับการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (The Rights to health care) หากหมายรวมถึงสิทธิที่จะเข้าถึงสุขภาพ (The Rights to health) ในทุกมิติอีกด้วย
โดยต่อมามีการขยายความหมายของสิทธิด้านสุขภาพ ผ่าน ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ในส่วนของนิยามศัพท์ว่า
“สิทธิด้านสุขภาพ หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพที่บุคคลพึงได้รับด้วยมาตรฐานที่สูงที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ต่อบุคคลและไม่มีการแบ่งแยกไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ สิทธิด้านสุขภาพครอบคลุมทั้งการรับบริการ สาธารณสุข และปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ การมีน้ำดื่ม และอาหารสะอาดเพียงพอ การมีที่อยู่อาศัย สิทธิด้านสุขภาพจึงสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เช่น สิทธิในเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย การทำงาน การศึกษา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วม และการไม่แบ่งแยกด้วย (องค์การอนามัยโลก)”
โดยธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติยังระบุในสาระรายหมวด 4.1 สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ว่า
1. บุคคลพึงได้รับสิทธิด้านสุขภาพที่จำเป็นตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเป้าหมายของสิทธิด้านสุขภาพ คือ บุคคลทุกคนมีสุขภาวะ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะการเข้าถึงบริการสาธารณสุขเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพด้วย โดยรัฐมีหน้าที่จัดสวัสดิการ สร้างสภาวะหรือเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้เกิดผลสำเร็จ ตามเป้าหมายให้ครอบคลุมและทั่วถึง คำนึงถึง กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและความสอดคล้องกับบริบทด้านต่างๆ ของสังคม
2. รัฐต้องเคารพสิทธิด้านสุขภาพของบุคคล และมีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคลได้รับสิทธิด้านสุขภาพโดยไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศด้าน สุขภาพและด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี
การมีอยู่ (availability) หมายถึง ระบบสาธารณสุขและบริการสุขภาพที่เพียงพอ
การเข้าถึง (accessibility) หมายถึง
การไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะโดยเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฯลฯ
การเข้าถึงได้ในเชิงกายภาพ นั่นคือ มีที่ตั้งไม่ห่างไกล เอื้อให้คนพิการเข้าถึงได้
การเข้าถึงได้ในเชิงเศรษฐกิจ หมายถึง มีค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผล สามารถจ่ายได้
การเข้าถึงในเชิงข้อมูล ผู้คนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่สำคัญและจำเป็นได้ รวมทั้งได้รับการปกป้องข้อมูลสุขภาพ
คุณภาพ (quality) หมายถึง มีมาตรฐาน
เป็นที่ยอมรับ (acceptability) เนื่องจากให้ความเคารพและสนองตอบต่อความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มประชากรและวัฒนธรรม
สิทธิด้านสุขภาพ ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
สิทธิด้านสุขภาพ ได้รับการบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในหมวด “สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ” ประกอบด้วย 8 มาตรา ซึ่งมีสรุปสาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้
มาตรา 5 สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ
มาตรา 6 การสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพของสตรี เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ คนด้อยโอกาส และกลุ่มคนที่มีความจำเพาะด้านสุขภาพ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม )
มาตรา 7 การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)
มาตรา 8 สิทธิในการได้รับข้อมูลด้านสาธารณสุขที่เพียงพอต่อการตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับบริการด้านสาธารณสุข (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)
มาตรา 9 สิทธิที่จะได้รับข้อมูลและให้การยินยอมก่อนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองในงานวิจัย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)
มาตรา 10 สิทธิที่จะได้รับข้อมูลกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลและวิธีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
มาตรา 11 สิทธิที่จะร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ
มาตรา 12 การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่รับการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อการยืดความตายในวาระสุดท้ายของชีวิต และการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตของประชาชน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)
สิทธิด้านสุขภาพทั้ง 8 เรื่อง เป็นสิทธิที่คุ้มครอง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
ซึ่งหมายถึง “ความมีคุณค่าของมนุษย์” ของแต่ละคนที่ดำรงชีวิตอยู่นั่นเอง
สิทธิด้านสุขภาพทั้ง 8 เรื่อง มีขอบเขตครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ทั้งนี้ สิทธิด้านสุขภาพเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นธรรมทางสุขภาพเพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ตั้งแต่ในครรภ์มารดา การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อม จนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่ง สช. ตระหนักถึงความสำคัญของพันธกิจในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักถึงความสำคัญ ตลอดจนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่เท่าเทียม เป็นธรรม และเสมอภาค อย่างยั่งยืน
- 12434 views