ทุกภาคส่วนร่วมวางกฎเหล็ก สกัดใช้โซเชียลมีเดียละเมิดสิทธิด้านสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. เปิดเวทีความร่วมมือวางกรอบการใช้โซเชียลมีเดียของบุคลากรด้านสุขภาพและสาธารณสุข ป้องกันการโพสต์ แชร์ ทวิต ที่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย หนุนสภาวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนนำไปใช้ประโยชน์ สร้างค่านิยมที่ถูกต้อง เจ้าของเพจดัง Drama-addict ขานรับ หลังพบพฤติกรรมไม่เหมาะสมในโลกออนไลน์จำนวนมาก
 
   เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๙ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที “เปลี่ยนโลกออนไลน์ ให้ปลอดการละเมิดสิทธิสุขภาพ” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สภาวิชาชีพ วิชาการ ประชาสังคม และสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า ๒๐๐ คน ณ ห้องประชุมแมจิก ๒ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีคนไทยนิยมใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนและเครือข่าย “โซเชียลมีเดีย” อาทิ Facebook, Line, Twitter, YouTube, Instagram ฯลฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพมีการแชร์ภาพหรือข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลอย่างไม่เหมาะสม อันอาจเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วย หลักจรรยาบรรณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมาตรา ๗ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ให้ความคุ้มครอง ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ไว้เป็นความลับ การนำไปเปิดเผยที่อาจทำให้เกิดความเสียหายนั้นกระทำไม่ได้ เว้นแต่เป็นความต้องการของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ให้ต้องเปิดเผย
 
   นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มองเห็นความสำคัญในการสร้างความร่วมมือให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข ฯลฯ ตระหนักถึงการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล จึงได้การจัดทำ (ร่าง) แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ. .... เพื่อเป็นหลักปฏิบัติให้กับผู้ที่อยู่ในวิชาชีพด้านสุขภาพ สภาวิชาชีพ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปพิจารณาเป็นแนวทางกำกับดูแลการใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์และไม่ละเมิดสิทธิด้านสุขภาพของผู้ป่วยต่อไป
 
   “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการรักษาพยาบาลและข้อมูลของโรค เป็นข้อมูลที่โดยทั่วไปผู้ป่วยไม่ต้องการให้เปิดเผยแก่คนทั่วไปได้รับทราบอยู่แล้ว ทางผู้ประกอบวิชาชีพจึงต้องมีความตระหนักรู้และเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ควบคู่กับประเด็นทางจริยธรรม กฏหมาย และสังคมด้วย โดยปัจจุบัน มีตัวอย่างของหน่วยงานที่ได้ออกคู่มือที่ใช้ภายในองค์กรไปแล้ว เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มหาวิทยาลัยมหิดล และ สช. ขณะที่เวทีในวันนี้ เป็นการเปิดให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมเสนอแนะแนวทางการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนำไปจัดทำเป็น แนวปฏิบัติกลางของประเทศ ในการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลต่อไป”
 
   นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่างแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ.... กล่าวถึงสาระสำคัญของร่างฉบับนี้ว่า ได้มีการกำหนดว่าการใช้โซเชียลมีเดียลักษณะใดที่ไม่ควรกระทำ ทั้งในเรื่องของ การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดูถูกวิชาชีพอื่น การละเมิดข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา หรือการให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เป็นต้น โดยมีเป้าหมายสำคัญให้บุคลากรหรือองค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพเกิดความตระหนักและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน เกิดการเรียนรู้ที่จะระมัดระวัง คิดก่อนแชร์ภาพและข้อความอยู่เสมอ
 
   “ร่างแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ฉบับนี้ จะช่วยทำให้เกิดการสร้าง ค่านิยม ที่ถูกต้องในการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเกือบทุกคนมีการใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ขณะที่ทางสภาวิชาชีพหรือสถานพยาบาลต่างๆ ก็สามารถเลือกเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทของตนเองไปปรับใช้ในองค์กรอย่างเหมาะสมได้เช่นเดียวกัน”
 
   นพ.นวนรรน กล่าวอีกว่า หลังจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว จะได้ร่วมกับ สช. นำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุง (ร่าง) แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ.... อีกครั้ง ก่อนเสนอ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อนำมาสู่การบังคับใช้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และมอบให้กระทรวงสาธารณสุข องค์กรวิชาชีพ หรือภาคส่วนต่างๆ นำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมในวงกว้างต่อไป
 
   ด้าน จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจ Drama-addict กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้พบเห็นกรณีการละเมิดสิทธิของผู้ป่วยในโลกโซเชียลมีเดียหลายครั้ง เช่น แพทย์นำเคสผู้ป่วยมาเล่าเป็นตัวอย่าง ซึ่งในทางที่ถูกต้องสมควรได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยหรือญาติก่อน หรือกรณีแพทย์ถ่ายภาพตัวเองทำงานในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู ไปจนถึงใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับพยาบาล เป็นต้น
 
   “การมีแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เขียนไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร ของ สช. ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก จะทำให้บุคลากรได้ทราบอย่างชัดเจน และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แต่ไม่ควรจำกัดเฉพาะวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น เพราะปัจจุบัน ยังพบกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ เช่น อาสาสมัครกู้ภัย ก็มีการโพสต์ในลักษณะที่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตเช่นเดียวกัน”
 
   เจ้าของเพจ Drama-addict กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังพบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ โพสต์ในเรื่องของการ ขายตรง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยาลดความอ้วน ยาดีท็อกซ์ ในสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งควรมีการบัญญัติไว้ในแนวทางปฏิบัติฉบับนี้ด้วย รวมทั้งเสนอให้องค์กรวิชาชีพ เช่น แพทยสภา เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องนี้มากขึ้น
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ