- 142 views
สช.จัดเวทีเสริมพลังภาคีเครือข่าย “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” สร้างความเข้มแข็งในกระบวนการนโยบายสาธารณะ สู่การขับเคลื่อนประเด็นด้าน “สังคม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ” ที่สอดคล้องตามบริบทพื้นที่ พร้อมสามารถเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ระดับประเทศ สู่ทิศทางการพัฒนาของไทยในอนาคต
เมื่อวันที่ 26-27 พ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังสร้างความเข้มแข็งนโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 2 ว่าด้วย “ภัยคุกคาม ผลกระทบจากปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อระบบสุขภาพ” ซึ่งเป็นการระดมตัวแทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนและเสริมความเข้มแข็งของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เป้าหมายในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยใช้เครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ในปี 2565 จะมุ่งเน้นการพัฒนาและขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันไปตามบริบทของจังหวัด และเป็นนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับวิกฤตโควิด-19 พร้อมทั้งสามารถเชื่อมแผนพัฒนาระดับต่างๆ ทั้งระดับจังหวัดไปถึงระดับชาติได้
สำหรับการพัฒนาประเด็นนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ปี 2565 สช.ได้สนับสนุนสมัชชาสุขภาพจังหวัด ซึ่งมีนโยบายสาธารณะที่แตกต่างหลากหลายตามบริบทพื้นที่ และสามารถเชื่อมโยงบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ เครือข่ายกลไกต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งยังเป็นพลังสำคัญในการรองรับการทำงานที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายระดับชาติ และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต
“ในปีนี้ สช.จะยกระดับกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัด ได้แสดงบทบาทการเป็นพื้นที่กลาง พัฒนาและขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสุขภาวะในระดับจังหวัด เช่นเดียวกับประเด็นร่วมในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ตลอดจนมีส่วนร่วมในทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพไทย ผ่านธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3, HIA ฉบับ 3 รวมไปถึงสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่เตรียมจะมีขึ้นในปีนี้ด้วย” นพ.ปรีดา กล่าว
นายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำกระบวนการเสริมพลัง กล่าวว่า ตัวแทนจากสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่เข้าร่วมเวทีเสริมพลังในครั้งนี้ ได้ร่วมกันทบทวนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด ภายใต้กรอบประเด็นเรื่องโควิด-19 สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ และสุขภาวะกลุ่มผู้สูงอายุ จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ หาสาเหตุ ผลกระทบ และตั้งเป้าหมายในสิ่งที่คาดหวังเอาไว้
“กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เรียกว่าขั้นตอน ขาขึ้น ในบางจังหวัดเครือข่ายสมัชชาฯ อาจยังต้องฝึกให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น เพื่อให้ข้อเสนอมีความถูกต้อง สมบูรณ์ สัมพันธ์กับปัญหา สามารถนำไปสู่ขั้นตอน ขาเคลื่อน ที่จะผลักดันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนรับผิดชอบในแต่ละประเด็น นำไปประกาศเป็นวาระของหน่วยงาน หรือวาระของพื้นที่ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ต่อไป” นายสัญชัย กล่าว
ขณะที่ นายณรงค์ พลละเอียด ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี และประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 8 กล่าวว่า จ.อุดรธานี ได้นำเอาประเด็นปัญหาของประชาชนในพื้นที่มาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการแก้ไข เช่น ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 มลภาวะทางกลิ่นจากโรงงานยางพารา และล่าสุดได้มีการเพิ่มประเด็นเรื่องของสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และการดำเนินงานด้านสุขภาพเด็กและเยาวชนในโรงเรียน
“ปัญหาสุขภาพขณะนี้เราอาจแก้กันที่ปลายเหตุ แต่ต้นทางก่อนเจ็บป่วยเรายังไม่ค่อยได้ทำเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งการมารักษาคนที่ป่วยไปแล้วย่อมไม่เกิดผลดี และสิ้นเปลืองโดยไม่สมเหตุผล เราจึงต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนตื่นรู้เรื่องสุขภาพมากกว่านี้ ดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วย อย่างเด็กและเยาวชนที่ยังสุขภาพดีอยู่ เราก็ต้องช่วยกันตระหนักถึงอาหารการกินที่ทำลายสุขภาพ ไม่ให้เป็นปัญหาสะสมแล้วค่อยมาแก้ตอนอายุมาก โดยสรุปแล้วเราจึงพยายามแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากที่สุด” นายณรงค์ กล่าว
นายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว ตัวแทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับสมัชชาฯ ภูเก็ต ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของจังหวัดตามบริบทพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่สมัชชาฯ มีส่วนให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และประเมินโครงการ Phuket Sandbox ที่ตั้งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ ว่ามีผลกระทบกับผู้คนนอกภาคส่วนการท่องเที่ยวอย่างไร เพื่อหาทางลดผลกระทบและเยียวยาให้กับผู้คนในกลุ่มอาชีพอื่นๆ จนสามารถผลักดันและถูกยอมรับเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเวลาต่อมา
นายเจริญ กล่าวว่า จากการทำงานของสมัชชาฯ ในช่วงที่ผ่านมา ได้เริ่มกลายเป็นที่ยอมรับและมีตัวแทนที่เข้าไปอยู่ในกลไกต่างๆ เช่น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่อยากเดินหน้าต่อไปในอนาคต คือการยกระดับกลไกสมัชชาฯ ให้กลายเป็นพื้นที่กลางในการผลักดันประเด็นสาธารณะเข้าสู่วาระจังหวัดได้อย่างแท้จริง
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงเวลาหลังจากนี้ที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเข้าสู่การอยู่ร่วมและเป็นโรคประจำถิ่น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องคือการฟื้นฟูประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเครื่องมือสำคัญหนึ่งคือกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ที่จะเข้าไปมีส่วนช่วยรองรับมาตรการของภาครัฐ ผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพในระดับต่างๆ รวมทั้งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ในปีนี้ ที่กำลังอยู่ระหว่างการรวมประเด็นเพื่อไปจัดทำเป็นข้อเสนอ ที่จะมุ่งไปสู่การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ผ่านมา ยังทำให้เราได้เห็นการเมืองภาคประชาชน ที่ผู้คนรวมตัวกันจัดทำข้อเสนอแล้วให้ผู้สมัครมาฟังความต้องการของประชาชน เป็นปรากฏการณ์ใหม่แทนที่จากเดิมผู้สมัครจะจัดเวทีแล้วให้ประชาชนเข้ามาฟัง ซึ่งภาพนี้อาจสะท้อนไปสู่การเมืองใหญ่ ที่ส่งผลให้เกิดการเมืองที่มีคุณภาพ การเมืองที่สร้างสรรค์มากขึ้น โดยกลไกของสมัชชาสุขภาพจังหวัดเอง อาจมีส่วนช่วยในการจัดทำข้อเสนอเพื่อให้ภาคการเมืองหันมารับฟังเสียงเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141