- 202 views
สช.เสริมพลังภาคี “กขป.” ทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานด้าน “ความมั่นคงทางอาหาร-อาหารปลอดภัย” หลังถูกสะท้อนเป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ในทั่วโลก หวังเป็นกลไกกลางเชื่อมร้อยประสานภาคนโยบายสู่การทำงานในพื้นที่ พร้อมเป็นเวทีระดมข้อเสนอ-หนุนเสริมภาคราชการ เป็นมิติใหม่ของการเมืองภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเสริมพลังการขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัย คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 1-13 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานพลังและเสริมความรู้ในการขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัย พร้อมทั้งหนุนเสริมและเชื่อมโยงการทำงานของ กขป. กับภาคีเครือข่ายระดับนโยบาย
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยว่า ประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหารขณะนี้ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่นับเป็นประเด็นใหญ่ของทั่วโลก โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แถลงว่าขณะนี้ดัชนีราคาอาหารสูงที่สุดนับตั้งแต่ ค.ศ.1961 เป็นต้นมา เช่นเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ที่ออกมาระบุว่าโลกกำลังเผชิญหน้าวิกฤตความมั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา ขณะที่ไทยเองในการแถลงของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไปขณะนี้สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ จะทำให้ราคาอาหารมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากแต่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จากวิกฤตราคาอาหาร เพราะก็ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในห้วงวิกฤตนี้ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มคนจน ผู้มีรายได้น้อย ที่จะเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้น ขณะเดียวกันในแง่ปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหาร ข้อมูลจากสหภาพยุโรป (EU) ก็พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกผักและผลไม้ที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐาน
“ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนภายใน 1 ปีข้างหน้าที่เราต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา คือเรื่องของราคาอาหาร และปัจจัยการผลิตที่แพง ถัดมาคือเรื่องการรองรับกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ ตามมาด้วยการมีระบบเตือนภัย จัดการกับอาหารที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจนการเสนอนโยบายในช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นและในระดับชาติ ซึ่ง กขป. จะสามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้มีผลในทางปฏิบัติได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราจะต้องติดตามและช่วยกัน” นายวิฑูรย์ กล่าว
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของ กขป. ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการประสานนโยบาย และบูรณาการการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านสุขภาพ ในระดับพื้นที่เขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ภายใต้องค์ประกอบของบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น รวมถึงองค์กรวิชาชีพ ที่จะทำงานพัฒนาระบบสุขภาพ โดยเชื่อมโยงร่วมกับเป้าหมาย แผนงาน และกลไกระดับเขตอื่นๆ
นพ.ปรีดา กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายแนวทางการดำเนินงานในปี 2564-2565 ของ กขป.เขตพื้นที่ 1-13 มีจำนวนทั้งสิ้น 54 ประเด็น ซึ่งประเด็นด้านอาหารปลอดภัย หรือความมั่นคงทางอาหาร นับเป็นหนึ่งในวาระร่วมที่สำคัญของหลายเขตพื้นที่ จึงถือเป็นโอกาสที่จะนำกรณีดังกล่าวออกมาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เพื่อให้นำไปสู่การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม และเป็นฐานของความร่วมมือที่สามารถแลกเปลี่ยนการทำงานซึ่งกันและกันได้ต่อไป
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การระดมสรรพกำลังของภาคประชาชนให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบสุขภาพ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยหนุนเสริมการทำงานของภาคราชการ ที่มีข้อจำกัดบางประการ และขาดความยืดหยุ่นเนื่องจากระเบียบกระบวนการที่ซับซ้อน ทำให้อาจเป็นปัญหาต่อการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ ฉะนั้นหาก กขป. สามารถเชื่อมโยงภาคประชาชน เข้ามาทำงานร่วมกับภาคราชการ หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ก็จะเป็นความคาดหวังที่ทำให้ระบบสุขภาพของเราดีขึ้นได้
ขณะที่ นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องของการขับเคลื่อนด้านอาหารในระดับประเทศนั้น มี พ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.2551 ที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นโครงสร้างหลัก พร้อมด้วยคณะกรรมการอีก 4 ด้าน หากแต่ปัญหาของโครงสร้างนี้คือองคาพยพที่มีขนาดใหญ่มาก แม้เป็นเจ้าภาพหลักแต่กลับขับเคลื่อนได้น้อย ไม่ทันการ และยังขาดการมีส่วนร่วมอยู่ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะทำให้กลไกนี้มีประสิทธิผลมากขึ้นได้อย่างไร
นายอารยะ กล่าวว่า ในขณะเดียวกันที่ประเทศไทยกำลังมี (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 –2570) ที่ตั้งเป้าให้ใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการด้านอาหารของประเทศ ภายใต้ 6 เป้าหมาย 18 ตัวชี้วัด 4 ยุทธศาสตร์ และ 52 โครงการสำคัญ ซึ่งในส่วนนี้กลไก กขป. เองก็จะสามารถหยิบยกไปใช้อ้างอิงในการขับเคลื่อนงาน ของบประมาณ หรือแม้แต่เป็นหลังพิงในการผลักดันเรื่องต่างๆ ได้
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการใน กทม. ได้รวมตัวกันใช้โอกาสดังกล่าว จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นต่างๆ รวมถึงด้านความมั่นคงทางอาหารในเมือง เพื่อส่งไปถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ ที่ทำให้เกิดบรรยากาศของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม อันเป็นทิศทางการเมืองรูปแบบใหม่ และจะเป็นบทเรียนให้กับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้นในอีกไม่นานนับจากนี้
นพ.ประทีป กล่าวว่า นอกจากประเด็นของความมั่นคงทางอาหารแล้ว หลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชนภายหลังวิกฤตโควิด-19 โดยกระบวนการสำคัญหนึ่งคือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีแนวคิดหลักในการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ เช่นเดียวกับการจัดสมัชชาสุขภาพของแต่ละจังหวัด ในจุดนี้เองหากกลไกของจังหวัดมารวมกับ กขป. แล้วนำเอาประเด็นของแต่ละพื้นที่เข้าสู่การแลกเปลี่ยนพูดคุย เพื่อให้ความต้องการของประชาชนนำมาสู่การเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย แบบเดียวกันกับประสบการณ์จาก กทม. ก็จะช่วยทำให้เกิดมิติใหม่ทางการเมืองในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่จะถึงนี้ได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141