ระดมสมอง 46 จว.จัดทำข้อเสนอ ‘ประเทศไทย’ เตรียม ‘โชว์เคส’ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาหารโลก | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

   สช. ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ชักชวนสมาชิกสมัชชาสุขภาพจังหวัด 46 พื้นที่ทั่วประเทศ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับชาติ เพื่อจัดทำข้อเสนอ-กำหนดท่าทีของประเทศไทยในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก ก.ย. นี้ “รองปลัด กษ.” ระบุ เตรียมร่อนตะแกรงหา “โชว์เคส” ความสำเร็จ แลกเปลี่ยนยูเอ็น
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จัดเวทีสานใจ สานพลังภาคี ว่าด้วยเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร และระบบอาหารที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 เพื่อจัดทำข้อเสนอในนามประเทศไทยต่อการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UNFSS 2021) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ก.ย.นี้ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
 
   สำหรับเวทีดังกล่าว ถือเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับชาติ (National Dialogue) ครั้งแรก โดย สช. ในฐานะองค์กรสานพลัง ได้ชักชวนเครือข่ายสมัชชาจังหวัดที่ขับเคลื่อนนโยบายว่าด้วยเกษตรและอาหารปลอดภัย จำนวน 48 จังหวัด เข้าร่วมกระบวนการโดยพร้อมเพรียง
 
   นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัด กษ. ในฐานะประธานการรับฟังความคิดเห็น เปิดเผยว่า ผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกประเทศต้องหันกลับมามองเรื่องระบบอาหารกันใหม่ จึงนำมาสู่การจัดประชุม UNFSS 2021 ซึ่งถือเป็นการประชุมวาระพิเศษของสหประชาชาติ ที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้นำ ทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับนายกรัฐมนตรี-ประธานาธิบดี ร่วมกันนำเสนอข้อมูลและนโยบายด้านการจัดการระบบอาหาร เพื่อจัดทำเป็นแผนงานการปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืนของโลกต่อไป
 
   “เมื่อปี 2563 ประเทศไทยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางมาแล้ว ฉะนั้นการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เราจะใช้มติสมัชชาสุขภาพฯ เป็นกรอบแนวทาง ประกอบกับกลไกอื่นๆ ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อกำหนดเป็นท่าทีของประเทศไทยสู่เวทีสุดยอดผู้นำต่อไป” นายระพีภัทร์ กล่าว
 
   นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก คือการหาโชว์เคสที่ดี เพื่อแสดงให้สหประชาชาติเห็นว่าในเรื่องระบบอาหารที่ยั่งยืนนั้น ประเทศไทยได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง มีอะไรสำเร็จบ้าง และทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
   ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักปลัด กษ. กล่าวว่า ที่ประชุม UNFSS ได้มีการแบ่งกรอบการดำเนินการ หรือ Action Tracks ออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ 2.การปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน 3.การส่งเสริมระบบการผลิตที่เพียงพอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4. การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่เสมอภาคและกระจายความเท่าเทียม 5.การสร้างความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤตเพื่อลดผลกระทบในด้านต่างๆ
 
   สำหรับประเทศไทยได้มีนโยบายที่เตรียมพร้อมและสอดรับการปรับเปลี่ยนสู่ ระบบอาหารอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น “ปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรระดับจังหวัด” เพื่อบริหารความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในระดับพื้นที่ การจัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านการเกษตร การขับเคลื่อนนโยบาย 3S คือ Safety, Security และ Sustainability รวมไปถึงการผนวกรวมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตลอดจนโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ (BCG) มาร่วมสร้างสมดุลใหม่ให้กับภาคเกษตรและระบบอาหารของไทยให้เข้มแข็ง
 
   ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 13.1 ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต เป็นนโยบายสาธารณะล่าสุดที่ได้รับฉันทมติในปี 2563 ซึ่งมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีการจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในทุกภาวะวิกฤต ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้อย่างเป็นธรรม
 
   อย่างไรก็ตาม ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างกรอบแนวทางการขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพฯ กับ Action Tracks ของการประชุม UNFSS เพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการไปนำเสนอเป็นภาพรวมของประเทศ กับอีกส่วนหนึ่งคือการให้คำแนะนำ มีสิ่งใดที่เราจะถอดบทเรียนและนำไปเป็นโชว์เคสของประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเผชิญกับสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 อย่างไร และจัดการให้ผ่านมาได้ด้วยวิธีใด
 
   “ตัวอย่างเช่น เรื่องของ ตู้ปันสุข ที่เกิดขึ้นหลังเราเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เป็นสิ่งที่ชี้ให้เราเห็นว่าเมื่อเกิดภาวะวิกฤต ประชาชนทุกคนและทุกภาคส่วน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาได้ เราจะนำตัวอย่างจากสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วเหล่านี้ มาร่วมกันคิดในกรอบ Action Tracks ทั้ง 5 ด้าน ออกมาเป็นข้อมูลที่ประเทศไทยจะไปให้ข้อเสนอแนะในเวทีโลกต่อไป” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ
ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
วนิดา กำเนิดเพ็ชร์
วีระศักดิ์ พุทธาศรี
ระดมสมอง 46 จว.จัดทำข้อเสนอ ‘ประเทศไทย’