- 54 views
รมว.ศึกษาธิการ เตรียมผุดหลักสูตรแนะนำ-แนะแนว อาชีพโลกออนไลน์ที่ถูกต้อง ระบุ พร้อมออกกฎคุมเครื่องมือสื่อสารในโรงเรียนเมื่อมีความพร้อม ด้าน รมช.สาธารณสุข ชี้ ปี 2563 แนวโน้มคนฆ่าตัวตายสูงขึ้นเหตุเครียดสะสม เน้นย้ำให้รับฟังกันมากขึ้น สร้างวุฒิภาวะในการใช้ชีวิต
วันที่ 2 ธันวาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ด้านสังคมและสุขภาพ ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อ “เติมความรักด้วยความรู้ ... อยู่อย่างไรในโลกออนไลน์” ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “สัปดาห์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” (side event) ที่จะมีขึ้นทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 2-14 ธันวาคม 2563
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในเวทีเสวนาว่า โลกออนไลน์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการศึกษาไทย จึงถือเป็นหน้าที่ของ ศธ.ที่จะต้องจัดทำหลักสูตรเพื่อให้คำแนะนำและแนะแนวอย่างถูกต้องทั้งในเรื่องของข้อมูลและอาชีพที่เกี่ยวข้องกับออนไลน์ เช่น เกมออนไลน์ อีสปอร์ต รวมไปถึงอาชีพที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ศธ. ได้พูดคุยเพื่อวางแนวทางไว้แล้ว
ที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือในสถานศึกษา ซึ่งจะพบว่าในโรงเรียนนานาชาติไม่อนุญาตให้นำโทรศัพท์เข้าห้องเรียนได้ แต่หาก ศธ. ออกมาตรการจำกัดการใช้อุปกรณ์การสื่อสารคงถูกต่อต้าน ขณะเดียวกันเป็นเรื่องของโรงเรียนที่ต้องหากิจกรรมอื่นๆ มาทดแทนหรือช่วยดึงเด็กให้ออกจากหน้าจอ แต่ข้อเท็จจริงคือทุกวันนี้โรงเรียนยังทำสิ่งนั้นไม่ได้ดีนัก ศธ.จึงยังไม่สามารถออกมาตรการได้ แต่ในอนาคตยืนยันว่าเมื่อมีความพร้อม ศธ.จะดำเนินการอย่างแน่นอน
นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเด็นการคุกคามในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่การคุกคามในชีวิตประจำวัน ได้มอบนโยบายไปยังผู้บริหารโรงเรียนทุกโรงเรียนแล้วว่าให้สื่อสารกับเด็กๆ ว่าไม่ควรปกปิดเรื่องการคุกคามเอาไว้ แต่ต้องกล้าออกมายืน เพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดสามารถทำผิดหรือคุกคามคนอื่นต่อไปได้อีก สำหรับการดำเนินการเพื่อเอาผิด ขณะนี้ ศธ.ได้ยึดใบประกอบวิชาชีพผู้ที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศไปแล้วกว่า 20 คน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ปาฐกถาพิเศษ “สานพลัง เสริมความรู้ อยู่ปลอดภัยในโลกออนไลน์” ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเองสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ด้วยตัวเองผ่านทางออนไลน์ แต่ข้อเท็จจริงก็คือในโลกออนไลน์นั้นมีทั้งข้อมูลที่จริงและข่าวปลอม ฉะนั้น การตรวจสอบและพิจารณาด้วยความรอบคอบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
สธ.ให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับสุขภาพในหลากหลายมิติ เช่น การพนันออนไลน์ที่มีผลต่อการสร้างความเครียดสะสมซึ่งจะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด ประกอบกับสถานการณ์อื่นๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้คนมีความเครียดสะสมมาก โดยข้อมูลปี 2563 พบว่าแนวโน้มของผู้ที่มีความเครียดสะสมและมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายนั้นเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นพิเศษ
ดร.สาธิต กล่าวอีกว่า ผู้ที่มีความคิดจะฆ่าตัวตายมักทิ้งร่องรอยไว้ในโซเชียลมีเดีย ในอดีตกว่าที่เจ้าหน้าที่จะเข้าถึงตัวผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตายได้นั้น อาจต้องใช้เวลามากถึง 3 ชั่วโมง แต่ปัจจุบัน สธ.ได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดจนผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนโลกออนไลน์ จนทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่คิดสั้นได้อย่างทันท่วงที ตรงนี้สะท้อนถึงการสานพลังทำงานเพื่อรับมือกับโลกออนไลน์
“ผมคิดว่าเราต้องลดปัญหาด้วยการรับฟังกันมากขึ้น รับข้อมูลแล้วกลั่นกรองให้ได้มากที่สุด การเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันกลับมาให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ดี การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีจำเป็นต้องมีความเข้าใจและมีวุฒิภาวะ เพราะการใช้ชีวิตอย่างมีวุฒิภาวะจะนำไปสู่ความสำเร็จและเป็นเกราะป้องกันภัยสุขภาพได้” ดร.สาธิต กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ การเกิดขึ้นของดิจิทัลในมุมหนึ่งทำให้โลกดีขึ้น แต่เหรียญมีสองด้าน หากไม่รู้เท่าทันก็อาจเกิดผลกระทบในทางที่ไม่พึงประสงค์ ฉะนั้นการมีชีวิตในศตวรรษที่ 21 นอกจากต้องมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) แล้ว ยังต้องมีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ (IT literacy) ด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับเด็กกับสื่อมาแล้ว อาทิ ผลกระทบจากสื่อต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง : กรณีเด็กไทยกับไอที หรือความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จัดขึ้นจะช่วยเติมเต็มและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนมติดังกล่าว
วันเดียวกัน ที่ จ.สุรินทร์ มีการจัดกิจกรรม “พลังพลเมืองตื่นรู้ สร้างสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต” พร้อมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการมีส่วนร่วมของพลังชุมชนในเรื่องการเตรียมความพร้อมของชีวิตในวาระสุดท้าย ณ โรงพยาบาลสุรินทร์ เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม side event ด้วยเช่นกัน
นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผวจ.สุรินทร์ กล่าวว่า การเสริมสร้างสุขภาวะของบุคคลต้องนับรวมตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งขณะนี้ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยและมีแนวโน้มผู้ป่วยเรื้อรังมากขึ้น ฉะนั้น การดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่บ้านหรือในชุมชนเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ มากไปกว่านั้นคือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวมโดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง การส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญความตายอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และตายดี ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนในครอบครัว
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147