เปิดรับสมัคร ‘กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน’ ร่วมกำหนดทิศทางด้านสุขภาวะระดับพื้นที่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

   สช.ชูกลไก “คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน” หรือ กขป. เชื่อมร้อยการทำงาน กำหนดทิศทางแก้ไขปัญหาสุขภาพ-สุขภาวะของแต่ละพื้นที่ เผยตัวอย่างรูปธรรมจากเหนือจรดใต้ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งปัญหาฝุ่นควัน-จราจร-โรคภัย-กลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมชวนทุกภาคส่วนสมัครเข้าร่วมเป็น กขป. ได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย.นี้
 
   นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยในการสัมภาษณ์ “กขป.ปัจจัยความสำเร็จ สร้างสุขภาวะคนไทย” ผ่านรายการคลื่นความคิด FM 96.5 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ว่า คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เป็นหนึ่งในกลไกที่มีบทบาทในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ กับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาสังคม เพื่อวางทิศทางในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพและสุขภาวะ ตามประเด็นและบริบทของแต่ละพื้นที่
 
   ทั้งนี้ แม้ประเด็นส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ หากแต่นิยามในที่นี้จะกว้างกว่าเรื่องของสุขภาพร่างกาย หรือการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดปัจจัยด้านสุขภาพนั้นประกอบด้วยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม อาหารการกิน พฤติกรรมของคนในสังคม ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับผู้คนที่หลากหลาย จึงต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน
 
   “หากเทียบภารกิจของแต่ละหน่วยงานเหมือนกับเส้นด้ายในแนวตั้ง การทำงานของ กขป. ก็เปรียบเสมือนเส้นด้ายในแนวนอน ที่จะไปถักทอและสอดประสานกับแนวตั้ง ให้เกิดเป็นผืนผ้าที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน จึงอยากให้ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการดูแล และร่วมกันกำหนดทิศทาง สร้างระบบสุขภาพด้วยตัวเราเอง” นายสมเกียรติ กล่าว
 
   ในส่วนรูปธรรมจากการทำงานของ กขป. ที่ไปขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะในแต่ละเขตนั้น พบว่ามีตัวอย่างหลากหลาย ซึ่งสะท้อนบริบทของแต่ละเขตพื้นที่ เช่น กขป.เขต 1 ภาคเหนือ ได้มีความชัดเจนเรื่องของการจัดการหมอกควัน ไฟป่า ซึ่งขยายมาสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดย กขป. ทำหน้าที่ประสานแต่ละภาคส่วนเข้ามาหารือและกำหนดมาตรการ นำไปสู่การสร้างความร่วมมือลดการเผา จนสามารถลดจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่ได้
 
   สำหรับตัวอย่างของ กขป.เขต 4 ภาคกลาง ได้พบปัญหาการจราจรบนเส้นทางสายหลัก คือถนนสายเอเชีย ที่เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงมีการเข้าไปศึกษาในจุดเกิดเหตุ ค้นหาปัจจัยเสี่ยง นำมาสู่การออกแบบถนน แก้ปัญหาเรื่องจุดตัดข้ามทางแยกต่างๆ จนพบว่าสามารถช่วยลดปริมาณอุบัติเหตุลงไปได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เองก็จะถูกนำไปขยายการทำงานในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมได้
 
   ขณะที่ตัวอย่างของ กขป.เขต 10 ภาคอีสาน ได้มีการจัดการกับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ด้วยการประสานความร่วมมือทั้งจากสำนักงานเขตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) คณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนกลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทำให้เกิดการจัดทำธรรมนูญสู้ภัยโควิดในพื้นที่อำเภอ รวมถึงตำบลต่างๆ จนสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคได้มากขึ้น
 
   ด้านตัวอย่างจาก กขป.เขต 12 ภาคใต้ ได้มีการจัดการปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มเปราะบางต่างๆ โดยร่วมมือกับกรมการปกครอง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เพื่อทำการเก็บข้อมูล ทำกระบวนการสืบค้นและการรับรองต่างๆ ที่ถูกต้อง จนสุดท้ายนำมาสู่การรับรองสถานะ และสามารถออกบัตรประชาชนให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ได้ ทำให้กลุ่มเหล่านี้ได้เข้าถึงระบบบริการหลักประกันสุขภาพ รวมไปถึงระบบการศึกษา
 
   “ตัวอย่างจากทั้ง 4 ภูมิภาคนี้ จะเห็นได้ว่ามีมาตรการแก้ปัญหาด้านสุขภาวะที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ ด้วยปัจจัยจากการมีข้อมูลที่ทั่วถึง เชื่อมระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้ และเมื่อเป็นประเด็นที่ตอบโจทย์ตรงกับปัญหาของพื้นที่ ก็ยิ่งได้รับความร่วมมือมากขึ้น รวมถึงคนที่เข้ามาเป็นกรรมการ กขป. เองก็จะมีความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญ” นายสมเกียรติ กล่าว
 
   นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัคร กขป. ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. 2564 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้จากเว็บไซต์ สช. www.nationalhealth.or.th หรือขอรับใบสมัครได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในแต่ละเขตพื้นที่ จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วม
 
   อนึ่ง กขป. มีสัดส่วนและองค์ประกอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ผู้แทนสถานพยาบาล ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน ไปจนถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ
เขตสุขภาพเพื่อประชาชน