สช. เปิดหลักสูตรปลุกสังคมไทย สร้างผู้นำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. เปิดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพเครือข่าย สร้างผู้นำด้านนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ถ่ายทอดสู่ระดับจังหวัดและอำเภอแบบครบวงจร ตั้งเป้าหมายทั่วประเทศ ๑ หมื่นคน พร้อมดึงวิทยาลัยพยาบาลฯ วิทยาลัยการสาธารณสุขฯ และสถาบันการศึกษาร่วมโปรแกรมการเรียนรู้ มุ่งหวังสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นภายใน ๕ ปีข้างหน้า
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุม การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๐ โดยมีภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ เครือข่าย 4PW จังหวัด ศูนย์ประสาน งานภาคีการพัฒนาจังหวัด (ศปจ.) สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civicnet) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฯลฯ จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นกว่า ๓๐๐ คน เข้าร่วม ณ ห้องทิพวรรณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้ความสำคัญกับ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนโยบายสาธารณะที่มุ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องสุขภาพ” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเป้าหมายในเรื่อง “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” (Health in all policies) และ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยใช้พื้นที่เป็นฐานการทำงาน เพื่อให้เครื่องมือและการพัฒนานโยบายสาธารณะลงไปสู่ระดับฐานราก ในระดับจังหวัด และอำเภอ ซึ่งการดำเนินงานแนวทางดังกล่าวต้องอาศัย ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่มีคุณภาพ มุ่งมั่น และมีอุดมการณ์ เพื่อสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม สช. จึงมีแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเจ้าหน้าที่ สช.เท่านั้น แต่เป็นการสร้างบุคลากรในระดับภาคีเครือข่ายให้มากเพียงพอจนถึงจุดที่จะสามารถสร้าง ‘สังคมสุขภาวะ’ ได้ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ ๑๐,๐๐๐ คน กระจายทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอทั่วประเทศ ในช่วง ๔-๕ ปีข้างหน้า
 
   นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ภายใต้การดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ตามแผนงานหลักฉบับที่ ๓ ของ สช. “ระบบสุขภาพไทยพัฒนาจากกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา หรือ 4PW (Participatory Public Policy Process based on Wisdom) สช. ได้สนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายในระดับจังหวัดได้ร่วมกันกำหนดประเด็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญ ๓ ประเด็นเพื่อร่วมมือกันหาทางออกต่อสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ปัจจุบันรวบรวมได้แล้ว ๒๐๖ ประเด็น โดยความร่วมมือกับ ศูนย์ประสานงานภาคีการพัฒนาจังหวัด (ศปจ.) ที่เป็นกลไกหลักขององค์กรพัฒนาสังคมในระดับจังหวัดที่เกิดขึ้นตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ “แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน” ที่รวบรวมหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนชุมชนสุขภาวะมาทำงานแบบหลอมรวมกัน
 
   ล่าสุด สช. ได้ริเริ่มการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม จำนวน ๔ โครงการ ประกอบด้วย โครงการ ๑. วิจัยและพัฒนาหลักสูตร 4PW สำหรับนักศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี (วพบ.) และวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร (วสส.) ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นกลุ่มอาจารย์ที่สนใจ ๒-๓ คนต่อวิทยาลัย มีเป้าหมาย ๒๐ วิทยาลัย พร้อมมอบหมายให้มีงานวิจัยกรณีตัวอย่าง 4PW จากภาคสนาม ๑ เรื่องต่อ ๑ วิทยาลัย และออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษาในระบบปกติของวิทยาลัย มีการดำเนินงานโดย สช. ร่วมกับเครือข่ายวิทยาลัย/นักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมและการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (นนส.) อาวุโส
 
   โครงการ ๒. พัฒนาศักยภาพวิทยากรเครือข่าย 4PW จังหวัด โดยมีเนื้อหาหลักประกอบด้วยกรอบแนวคิดประเด็นคานงัด 4PW และทักษะพื้นฐานทั้ง ๓ เครื่องมือหลัก ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นทีมวิทยากรชุมชนของสำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) และเครือข่ายอื่นๆ มีเป้าหมาย ๑๐๐ ทีม จำนวน ๕๐๐ คน ดำเนินการโดยกลุ่มสถาบันวิชาการที่เป็นแกนหลักอยู่ในภูมิภาคต่างๆ
 
   โครงการ ๓. พัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง “พลเมืองตื่นรู้” เนื้อหาหลักเป็นการพัฒนาภาวะผู้นำจากด้านใน มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้นำภาคประชาสังคม จากเครือข่ายต่างๆ โดยใช้ ๗๗ จังหวัด ๘๒ พื้นที่ เป็นกรอบการคัดสรร ให้สามารถเป็นพี่เลี้ยงกระบวนการ 4PW ในจังหวัดของตนได้ ดำเนินการ โดย อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์
 
   โครงการ ๔. เวทียุทธศาสตร์พัฒนากำลังคน 4PW เป็นการประชุมผู้รับผิดชอบจากทั้ง ๓ โครงการ ร่วมกับ สช. เป็นประจำทุก ๓ เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปรับตัวตามสถานการณ์ ดำเนินการโดย สช.
 
   “โครงการทั้งหมดจะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ภายใต้ความคาดหวังของ สช. ที่อยากให้ผู้ผ่านหลักสูตรทั้งหมดเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม”
 
   ด้าน ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมงานพัฒนาศักยภาพวิทยากรเครือข่าย 4PW จังหวัด ภายใต้หลักสูตรกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทีมนโยบายสาธารณะสู่สังคมสุขภาวะ (ทีม ๕ พลัง) กล่าวว่า หลักสูตรนี้มุ่งหมายให้เกิดการเสริมสร้างทีมนโยบายสาธารณะไปสู่การทำงานสังคมสุขภาวะในพื้นที่ มีเป้าหมายเป็นผู้ปฏิบัติงานและทีมที่มีจิตสาธารณะ สามารถคิดเป็น วิเคราะห์เป็น และทำเป็นในเรื่องนโยบายสาธารณะจนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สังสุขภาวะได้ มีจำนวน ๑๐๐ ทีมๆละ ๕ คน จะเริ่มดำเนินการเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ และตั้งเป้าใน ๓ ปี มีผู้เข้าร่วมหลักสูตรรวม ๑,๐๐๐ คน
 
   โครงสร้างหลักสูตรมีทั้งหมด ๕ ชุดการเรียนรู้ ประกอบด้วย (๑) การสร้างแรงบันดาลใจและจิตสาธารณะ (๒) กระบวนการนโยบายสาธารณะ (๓) การวิจัยแก้ปัญหาสาธารณะและเครื่องมือสมัชชาสุขภาพ (๓) การผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ และ (๕) การสรุปบทเรียน การจัดการความรู้และการติดตามประเมินผลแบบเสริมพลังกับการวางแผนพัฒนานโยบาย
 
   “ทุกคนจะต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ตั้งใจจริงในการเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านนโยบายสาธารณะ และมีศักยภาพสื่อสารสาธารณะทุกช่องทาง รวมถึงออนไลน์ด้วย พร้อมสร้างการยอมรับนับถือ ความไว้วางใจในพื้นที่ และสร้างการยอมรับเป็นที่รู้จักหรือเรียกว่ามี แบรนด์เนม ทางสังคม”
 
   ดร. ชูศักดิ์ ยืนนาน จากวพบ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางวิทยาลัยพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร 4 PW และเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะเพิ่มขึ้น มุ่งการเรียนรู้สู่ชุมชน ดึงบุคลากรที่มีองค์ความรู้ในพื้นที่ เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน
 
   ด้าน อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กล่าวถึงหลักสูตร “พลเมืองตื่นรู้” หรือ “ผู้เดินตามรอยเท้าพ่อเพื่อแผ่นดินสยามอันเป็นธรรมและงดงาม” ว่า ประกอบด้วย (๑) ภาวะผู้นำเรียนรู้รวมหมู่ (๒) การคิดกระบวนระบบ (๓) พื้นฐานแห่งภาวะผู้นำ และ (๔) การมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง โดยหวังว่าผู้ที่ผ่านหลักสูตรนี้จะสามารถดำรงตนได้อย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย อย่างสอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงทำเป็นแบบอย่าง ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ