สบส.ชี้คลิปช่วยชีวิต “แตงโม” ผิด กม.จี้ รพ.เอกชนแจงปล่อยให้ถ่ายขณะรักษา | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

    สบส. ฟันธง เพื่อนรักถ่ายคลิปช่วยชีวิต “แตงโม” ในห้องฉุกเฉินผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิผู้ป่วย จี้ รพ.เอกชน แจงปล่อยให้มีการถ่ายขณะรักษา หากรู้เห็นเป็นใจผิดด้วย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
 
   วันนี้ (7 ก.ค.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีเพื่อนสนิทของดาราสาว “แตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์” ได้เผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอของสาวแตงโมขณะเจ้าตัวกำลังอยู่ในโรงพยาบาลสภาพกำลังร่ำไห้โดยไร้สติ ระหว่างกำลังช่วยชีวิตจากการกินยาฆ่าตัวตาย โดยมีการประกาศข้อความรักเพื่อนสาว หากได้สติโปรดอย่าซ้ำเติม เป็นต้น ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความลับของผู้ป่วย ถ้าเอามาเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือทำให้ได้รับความเสียหาย ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีหลายมาตรา คือ 1. มาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ซึ่งถือเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยไม่ได้ เว้นแต่เป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ความผิดนี้สามารถยอมความได้ หากดาราสาวไม่ฟ้องร้องก็ไม่สามารถเอาผิดได้
 
    นพ.ธเรศ กล่าวว่า 2. มาตรา 323 ประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุถึงผู้ที่ล่วงรู้ความลับของผู้อื่นจากการประกอบอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล แล้วเปิดเผยความลับนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3. การเผยแพร่ลงในสังคมออนไลน์ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย อย่างไรก็ตาม ตามปกติแล้วสถานพยาบาลจะมีมาตรการดูแลไม่ให้มีการถ่ายภาพ ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นจะให้เจ้าหน้าที่ สบส. ประสานกับ รพ.เอกชน ดังกล่าวเพื่อให้ชี้แจงว่าปล่อยให้มีการถ่ายคลิปขณะทำการรักษาได้อย่างไร ต้องมาหาข้อเท็จจริงว่าสถานพยาบาลมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ หรือว่าเป็นการแอบถ่าย ซึ่งหากเป็นการแอบถ่าย รพ. อาจจะเป็นผู้เสียหายโดยตรง แต่หาก รพ. มีส่วนรู้เห็นเป็นใจก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 323 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้เสียหายสามารถฟ้องได้
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ในแง่พฤติกรรมแล้วถือว่าไม่เหมาะสม เพราะไม่ควรเผยแพร่ภาพหรือคลิปขณะทำการรักษาผู้ป่วย เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่สำคัญคือ คนไข้ไม่อยู่ในภาวะที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองได้ ส่วนในแง่ของกฎหมายนั้นตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ว่าข้อมูลของคนไข้จะต้องได้รับความคุ้มครอง หากละเมิดมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่เป็นคดีที่สามารถยอมความกันได้หากเจ้าของข้อมูลไม่ติดใจฟ้องร้องก็ไม่มีปัญหา ซึ่งช่วงเวลาขณะการรักษาพยาบาลผู้ป่วยก็ถือว่าเป็นข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยด้วย จึงไม่สามารถถ่ายเพื่อนำไปเผยแพร่ได้ ประเด็นสำคัญคือ ทุกวันนี้การถ่ายภาพและวิดีโอสามารถทำได้ง่ายดาย จนบางครั้งไม่ระมัดระวังไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องรณรงค์ให้ความรู้กับสังคมว่าก่อนที่จะถ่าย หรือเผยแพร่ออกไปนั้นเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ โดยเฉพาะสื่อสาธารณะยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะถือเป็นการผลิตสื่อซ้ำ ยิ่งช่วงขณะการรักษาถือเป็นภาพที่ไม่น่าดูและเป็นการส่งต่อบนความทุกข์ของผู้อื่น
 
   นพ.อำพล กล่าวว่า โดยปกติสถานพยาบาลจะมีข้อห้ามในการถ่ายภาพอยู่แล้ว แต่กรณีดังกล่าวคงต้องไปดูว่าเกิดจากการแอบถ่ายหรือไม่ เพราะปัจจุบันการถ่ายภาพหรือคลิปสามารถทำได้ง่าย เพียงแค่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาก็สามารถถ่ายได้แล้ว และบางครั้งก็ไม่อาจทราบได้ว่าคนที่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมานั้นกำลังถ่ายภาพหรือคลิปอยู่หรือไม่ เรียกว่าอาจเป็นการถ่ายในช่วงที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่รู้ตัว หรือหากรู้ตัวแต่กำลังยุ่งกับการช่วยชีวิตคนไข้ได้มีการห้ามปรามหรือไม่ ก็ต้องไปพิสูจน์ข้อเท็จจริง
 
   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 กำหนดว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้ นอกจากนี้ ตามสถานพยาบาลจะมีการติดประกาศเอาไว้ชัดเจนว่า การถ่ายภาพหรือบันทึกเสียงในขณะที่แพทย์ พยาบาล ทำการรักษาพยาบาล ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการทำการรักษาผู้ป่วยของแพทย์และพยาบาล และเป็นการขัดขวางหรือทำให้การตรวจรักษาไม่สะดวก ซึ่งอาจเกิดผลร้ายต่อผู้ป่วย หากนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตและเกิดความเสียหายขึ้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
 
 ขอบคุณที่มาของข่าวจาก http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9580000076714
 

รูปภาพ