สช.เดินหน้าคุ้มครองข้อมูลสุขภาพคนไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   การคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550เนื่องจากที่ผ่านมา เกิดปัญหาการนำข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเช่น รายละเอียดการรักษาโรค ฟิล์มเอ็กซเรย์ และภาพถ่ายของผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือแม้แต่ เวชระเบียนผู้ป่วย ถูกนำไปเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ บางครั้งทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูล
 
   มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุไว้ว่า “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนําไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทําให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอํานาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”
 
   นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการที่ปรึกษาการส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กล่าวว่าพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิของบุคคลที่มารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไว้ จำเป็นต้องออกแนวปฏิบัติต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนในแต่ละเรื่อง เพื่อให้สิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ การออกแนวปฏิบัติในเรื่องใดก็ตามต้องศึกษาข้อมูลวิชาการอย่างรอบด้านทั้งมาตรฐานปฏิบัติในระดับสากล และในบริบทของประเทศไทย ควบคู่กับการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยยึดหลักการประโยชน์สาธารณะเป็นหลักและให้สมดุลกับหลักความเป็นส่วนตัว
 
   ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อย้ำเตือนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ระมัดระวังการโพสต์หรือแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลในยุคที่โลกโซเชียลมีเดียทรงอิทธิพล
 
   ปัจจุบัน สช.อยู่ระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติอีกฉบับหนึ่งคือ“(ร่าง) แนวปฏิบัติตามมาตรา 7 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข”ร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดูแลข้อมูลผู้ป่วยที่อยู่ในงาน“เวชระเบียน”ของสถานพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจาก “เวชระเบียน”เป็นข้อมูลที่เกี่ยวพันกับคนไทยแทบทุกคนตั้งแต่แรกเกิด การรับบริการทางการแพทย์ แม้เสียชีวิตแล้วข้อมูลนี้ก็ถูกจัดเก็บในสถานพยาบาลต่อไปอีกหลายปี เกี่ยวพันกับสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ ทรัพย์สิน มรดก การประกันสุขภาพ เป็นต้น
 
   แนวทางการแก้ไขเพื่อให้กฎหมายเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นพ.วิชัย เสนอว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนโดยศึกษาจากกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของสากลประเทศที่เจริญแล้ว เพื่ออธิบายและขยายความ กำหนดเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเหมาะสมยกตัวอย่างประเด็นที่ต้องระบุให้ชัดเจนไว้ในแนวปฏิบัติ ได้แก่
 
   (1) การเปิดเผยลักษณะใดที่ทำได้ และทำได้โดยใคร และกรณี “ห้ามการเปิดเผย”ต้องมีการอธิบายว่า อะไรที่ห้ามเปิดเผย เช่น ห้ามเปิดเผยกับบริษัทประกันหรืออื่นๆ เป็นต้น
 
   (2) การเปิดเผยที่กฎหมายให้ทำได้เมื่อเป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าของข้อมูล ก็ต้องวางวิธีการไว้ โดยอาจให้มีแบบฟอร์มแสดงความจำนง และต้องมีแนวปฏิบัติในกรณีที่บุคคลนั้นไม่สามารถหรือไม่สะดวกไปขอข้อมูลด้วยตนเอง ก็ให้มอบอำนาจได้ เป็นต้น
 
   (3) ต้องมีการตรวจสอบว่ามีบทบัญญัติในกฎหมายใดบ้าง ที่กำหนดให้เปิดเผยได้และจัดทำแนวปฏิบัติให้ชัดเจนในแต่ละเรื่อง (4) มีแนวปฏิบัติกรณีเจ้าของข้อมูลเสียชีวิต เช่น แสดงเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ก่อน เป็นต้น และ(5)จำเป็นต้องมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะ เพื่อให้คำปรึกษาและตอบคำถาม เมื่อหน่วยงาน องค์กรหรือประชาชนมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้มาตรา 7 ในทางปฏิบัติ
 
   พร้อมกันนั้น ควรมีแนวทางการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ และเข้าใจภายในสถานพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุข มหาวิทยาลัย องค์กรวิชาชีพต่างๆ และสังคม เพื่อระมัดระวังร่วมกันในการให้ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลไม่ว่าจะเป็นประวัติ อาการเจ็บป่วย หรือกระบวนการรักษา รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดเก็บและดูแลอย่างระมัดระวังมากที่สุดในอนาคตทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เมนูภารกิจ สิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพ กด link จากที่นี่
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ