- 272 views
การแชท แชร์ โพสต์ อาจใช้เวลาเพียงชั่วพริบตา แต่ข้อมูลด้านสุขภาพต่างๆนานา ปรากฏต่อสายตาผู้คนนับล้านได้ภายในเสี้ยววินาที ... นี่คือพลังของ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งบ่อยครั้งเกิดการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพส่วนบุคคลโดยไม่รู้ตัว
โดยเฉพาะในสถานพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งดูแลข้อมูลด้านสุขภาพของคนไข้ เวชระเบียนต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องตาม มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งให้ความคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ไม่ให้มีการเปิดเผยยกเว้นเจ้าของข้อมูลอนุญาต หรือมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ได้บัญญัติให้ต้องเปิดเผยเท่านั้น
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดทำ “แนวปฏิบัติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ” เพื่อเตือนให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพพึงระมัดระวัง โดยขณะนี้แนวปฏิบัติดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 พร้อมให้ทุกภาคส่วนนำไปปรับใช้ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาวิชาชีพ หรือบุคลากรอื่นๆ ที่ทํางานในระบบสุขภาพ รวมทั้งผู้ที่ทํางานเกี่ยวข้องกับข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ หรือการสื่อสารสุขภาพ จนถึงนิสิตนักศึกษาที่กําลังศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
โดย นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการหลักในการยกร่างฯ ดังกล่าว กล่าวว่า ผู้ประกอบวิชาชีพต้องให้ความสำคัญ ทั้งการคุ้มครองความลับ (confidentiality) และความเป็นส่วนตัว (privacy) ของข้อมูลผู้ป่วย รวมไปถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศและข้อมูลสารสนเทศ (information security) เพื่อระวังไม่ให้การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ป่วย “แนวปฏิบัติ หรือไกด์ไลน์ได้วางหลักการสำคัญไว้ในวันที่สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลสูงมากจะช่วยให้การใช้ โซเชียลมีเดีย ของบุคลากรด้านสุขภาพเป็นไปอย่างมีสติ ซึ่งทุกหน่วยงานและองค์กรสามารถนำไกด์ไลน์นี้ ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อไป”
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติฯ มีทั้งหมด 7 หมวด รวม 27 ข้อ หัวใจสำคัญอยู่บนหลักการคำนึงถึง “สิทธิของผู้ป่วย และจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ” เพื่อให้แต่ละหน่วยงาน และผู้ปฏิบัติงานได้ฉุกคิดก่อนจะสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ โดยยึดหลักการ อาทิ “คิดก่อนโพสต์” (Pausing Before Posting) , “เช็คก่อนแชร์” (Fact Checking before Sharing) , “มีพฤติกรรมออนไลน์อย่างเหมาะสม” (Appropriate Behaviors Online) ในการใช้งาน ระมัดระวังการเผยแพร่ภาพ หรือเนื้อหาขณะปฏิบัติหน้าที่ เช่น ในห้องคลอด ห้องผ่าตัด เป็นต้น
รวมไปถึงหลัก “การรักษาความเป็นวิชาชีพตลอดเวลา” (Maintaining Professionalism) เพื่อรักษาความเป็นมืออาชีพด้วยการวางตัวอย่างเหมาะสมโดยไม่จํากัดเฉพาะขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์ไม่มีเส้นแบ่งช่วงเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่กับนอกเวลางาน
นพ.นวนรรน กล่าวอีกว่า ขณะนี้แพทยสภาจะนำแนวทางการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวมากำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติของแพทยสภาด้วย เพื่อสร้างความตระหนักและจะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้เกิดผลอย่างรวดเร็ว โดยหวังว่าอนาคตจะถูกบรรจุเป็นมาตรฐานหนึ่งของการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ( HA : Hospital Accreditation) ถูกวางเป็นระบบอย่างกว้างขวางทั้งในกระบวนการรักษาพยาบาล และงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดูแลฐานข้อมูลคนไข้ ต้องวางมาตรการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อยู่ระหว่างการเผยแพร่แนวปฏิบัติฉบับนี้ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างทั้งในรูปของคู่มือแผ่นพับฉบับพกพา การแปรเป็น Infographic ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่
สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ
สช.เดินหน้าคุ้มครองข้อมูลสุขภาพคนไทย
สช.วางแนวปฏิบัติใหม่คุ้มครองสิทธิผู้ป่วย คุ้มครองข้อมูลสุขภาพในยุคดิจิตอล
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143