เป็นเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษ ที่เครือข่ายด้านสุขภาพ ทั้งฟากฝั่งวิชาชีพ วิชาการ ภาคประชาสังคม ได้ทำงานล่มหัวจมท้ายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ด้วยการ “แบนแร่ใยหิน” ให้พ้นจากประเทศอย่างถาวร
แม้ว่าปัญหาสุขภาพที่เกิดจาก “แร่ใยหิน” จะไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่หลักฐาน ข้อพิสูจน์ ตลอดจนสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน กลับแตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง จึงได้มีการทบทวนมติสมัชชาฯ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ที่เคยมีมติไปแล้วเมื่อปี 2553 อีกครั้ง ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องและเท่าทันความเป็นจริง ซึ่งจะนำไปสู่ประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนและขยับเข้าใกล้เป้าหมายได้มากขึ้น
สมาชิกสมัชชาสุขภาพได้มีฉันทมติร่วมกันต่อ มติที่ 12.1 ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการ
ทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และนับหนึ่งการขับเคลื่อนด้วยการจัด ประชุมปรึกษาหารือการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 มติที่ 12.1 ขึ้น เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ในฐานะประธานการประชุม เปิดวงด้วยการชี้แจงผู้เข้าร่วม ซึ่งมีทั้งมิตรเก่าและเพื่อนใหม่ ให้รับทราบถึงภารกิจที่จะต้องทำร่วมกัน ภายหลังมตินี้ ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ และอยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“หลังจาก ครม. มีมติ ก็จะทำงานกันง่ายขึ้น เพราะเมื่อเป็นนโยบายแล้ว หน่วยงานต่างๆ ก็สะดวกใจในการวางแผนงาน ของบประมาณขับเคลื่อนงาน ดังนั้น การประชุมวันนี้ จึงอยากให้มีการวางเป้าหมายร่วมกัน และนำเข้าข้อมูลที่จะชี้ให้เห็นถึงวิธีการขับเคลื่อนต่อไป” รศ.ดร.จิราพร ระบุ
จากนั้น ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ เลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ได้ทบทวนสถานการณ์ความเป็นมาและทบทวนมติสมัชชาสุขภาพฯ ที่เคยมีในปี 2553 รวมถึงแนวทางการจัดการและความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ ก่อนจะนำที่ประชุมเข้าสู่สาระสำคัญในมติ 12.1
“ปัจจุบัน มีสารทดแทนแร่ใยหินเพียงพอแล้ว ข้อเสนอในมติครั้งนี้จึงกำหนดให้มีการยกเลิกใช้ภายในปี 2565 และ 2568 ตามชนิดของผลิตภัณฑ์” ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ สรุปเป้าประสงค์ของมติ และกล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้การรับรู้ของผู้คนทั่วไปยังไม่เพียงพอ ยังขาดระบบการเฝ้าระวังและติดตามผู้ป่วย รวมถึงประเด็นราคาวัสดุทดแทน
“ทั้งหมดต้องมีการศึกษามาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และกฎหมายต่างๆ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกใช้ แร่ใยหินให้ได้ในที่สุด” ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ ระบุ
ประเด็นหนึ่งที่ผู้ร่วมประชุมอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง คือ ข้อมติที่เกี่ยวข้องกับ “ท้องถิ่น” นั่นคือ การออกข้อบัญญัติกระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนทางกฎหมายที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎกระทรวงฯ ที่ให้อำนาจท้องถิ่นในการดำเนินการเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
เช่นเดียวกับประเด็นการ “ยกเลิกนำเข้า” ซึ่งผู้แทนจากกรมการค้าระหว่างประเทศ ชี้แจงว่า ต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 โดยการเพิ่มรายการสินค้าเข้าไป ซึ่งต้องทำงานร่วมกับกรมศุลการกรด้วย
“จำเป็นต้องมีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน มีแนวทางปฏิบัติที่ไม่ขัดกับองค์การการค้าโลก (WTO) จากนั้น จึงจะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นพร้อมกระบวนการกลั่นกรองกฎหมาย ในกรณีที่สินค้ามีความชัดเจน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาเร็วสุดประมาณ 1 ปี จึงจะประกาศยกเลิกการนำเข้าได้”
ขณะที่การสนับสนุนใช้ผลิตภัณฑ์ “วัสดุทดแทน” ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง ชี้ประเด็นไปที่ “การเปิดช่องให้มีการจัดซื้อจัดจ้างได้” หากเล็งเห็นความสำคัญว่า เป็นพัสดุที่รัฐต้องสนับสนุน
“ควรมีการกำหนดหรือจัดทำมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหิน โดยอาจมีการขึ้นทะเบียนหรือบัญชี
ที่ชัดเจน หลังจากนั้นกรมบัญชีกลางจะสามารถเสนอให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อหรือจ้างรับเหมาเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้หากเล็งเห็นความสำคัญว่า เป็นพัสดุที่รัฐต้องสนับสนุน แต่จำเป็นจะต้องเริ่มจากต้นน้ำโดยต้องมีการสั่งการในระดับนโยบายลงมาก่อน” ผู้แทนกรมบัญชีกลางกล่าว
ในส่วนของ “การวินิจฉัยและติดตามโรค” ผู้แทนจากกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีการประกาศ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ไปแล้ว ซึ่ง “โรคเหตุใยหิน” เป็นหนึ่งในโรคที่หน่วยงานหรือนายจ้างต้องมีการรายงานหากพบว่าลูกจ้างเกิดโรค เพื่อให้ได้รับการดูแลในลำดับต่อไป
ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) มองว่า ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว
อาจมีการทำผังความเชื่อมโยงของกฎหมายเหล่านี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมและสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ซึ่งการออกกฎหมายลำดับรองบางส่วน จะช่วยให้ระดับปฏิบัติการทำงานได้ง่ายขึ้น และยินดีสนับสนุนข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งพื้นที่ปฏิบัติการที่ประสบผลสำเร็จจากประเทศต่างๆ เพื่อการเผยแพร่ สร้างความเข้าใจ กระตุ้นสังคมไทยให้ตระหนักถึงอันตรายจากแร่ใยหิน
หลังจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง รศ.ดร.จิราพร แจ้งผู้เข้าร่วมว่า ข้อเสนอต่างๆ จะถูกเก็บไว้อย่างเป็นระบบ โดยฝ่ายเลขานุการจะรวบรวมข้อมูล ความเห็นและข้อเสนอของหน่วยงานต่างๆ นำมาวิเคราะห์เพื่อเสนอแผนการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป ขอขอบคุณที่มาร่วมกันแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าในแต่ละเรื่องนั้นอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบหรือไม่อยู่ในความรับผิดชอบใคร หรือแต่ละหน่วยงานต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อได้
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147
- 80 views