สช. แนะมองรอบด้านนโยบายดึงบริษัทประกันเอกชน คุมเบิกจ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการทั่วประเทศ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายการให้บริษัทประกันสุขภาพดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ไม่มั่นใจแก้ปัญหาระบบตรวจสอบและลดภาระงบประมาณได้จริงหรือไม่ นักวิชาการยังห่วงเอกชนผูกขาดฐานข้อมูล-มัดมือชกขึ้นเบี้ยประกัน ขณะที่กรมบัญชีกลางยืนยันข้าราชการต้องได้สิทธิประโยชน์เต็มที่เหมือนเดิม
 
   เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุม “การจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่พึงประสงค์” ณ ห้องประชุมสุชน ๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนักวิชาการระบบสุขภาพร่วมหารือทางออกของระบบ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลัก คือ กรมบัญชีกลาง เข้าร่วม
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แนวคิดของกระทรวงการคลังในการพัฒนาสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการทั่วประเทศที่จากเดิมเป็นการเบิกจ่ายจากระบบงบประมาณ มาสู่แนวทางการทำประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชน มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อการให้บริการ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้านว่าจะแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของงบประมาณได้หรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบประสิทธิภาพการเบิกจ่าย ระบบตรวจสอบ และป้องกันการรั่วไหลได้จริงเพียงใด
 
   “สช. ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ได้มองเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ จึงสานพลังทุกฝ่ายมาหารือร่วมกัน เพื่อรวบรวมความคิด ความเห็น และองค์ความรู้ต่างๆ นำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคมและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปพัฒนานโยบายเรื่องนี้ต่อไป”
 
   รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การให้บริษัทประกันเอกชนดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงหลายประการ อาทิ เงื่อนไขการจ่ายเงินที่บริษัทประกันต้องจ่ายให้โรงพยาบาลของรัฐซึ่งมีเรื่องกำไรขาดทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง การร้องว่าเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนนำไปสู่การฟ้องศาลก็อาจมีได้ รวมถึงเมื่อดำเนินการจริงแล้วกรณีที่มีการปฏิเสธการจ่ายต้องมีระบบอุทธรณ์และวินิจฉัยมารองรับ ตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ เพราะผลกระทบหนักสุดจะเกิดกับตัวข้าราชการเอง
 
   รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่า ภาครัฐต้องพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศรองรับร่วมกัน มีรหัสข้อมูลที่ตรงกัน พร้อมกำหนดให้เอกชนต้องส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบและพัฒนาร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ผูกขาดข้อมูลไว้ฝ่ายเดียว เนื่องจากปัจจุบันผู้ป่วยนอกมีที่ใช้บริการโรงพยาบาลสูงถึง ๒๙ ล้านครั้งต่อปี การตรวจสอบการใช้จ่ายจึงต้องชัดเจน และมีบุคลากรทางการแพทย์มากลั่นกรองให้อีกชั้นหนึ่ง
 
   “ผมเชื่อว่าช่วง ๑-๒ ปีแรกจะไม่มีการปรับขึ้นเบี้ยประกัน เพราะบริษัทอาจไปทำประกันภัยต่อต่างประเทศ แต่หลังจากปีที่สองขึ้นไป อาจจะปรับขึ้นเบี้ยสูงขึ้นอีกและลูกโป่งจะแตกเมื่อต่อสัญญาปีที่สี่ ถึงเวลานั้นแล้วภาครัฐจะไม่มีทางเลือก เพราะฉะนั้นเงื่อนไขสำคัญคือการส่งต่อข้อมูลให้ภาครัฐ”
 
   นางสาวพรวิลัย เดชอมรชัย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า แนวทางที่จะให้บริษัทประกันภัยเข้ามาดำเนินการทำให้หลายฝ่ายตื่นตัวเข้ามาร่วมให้ข้อเสนอแนะและประชาพิจารณ์ เพราะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ และอาจต้องแก้ไขกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน รวมถึงต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลมารองรับเพื่อให้นโยบายนี้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหากตัดสินใจดำเนินการจะต้องทำเป็นขั้นตอน มีโครงการนำร่องก่อน เช่น ผู้ป่วยนอก หรือเริ่มจากโรคหลักๆ บางอย่างจะได้หรือไม่ ตรงนี้อยู่ระหว่างการศึกษา
 
   “กรมบัญชีกลางยืนยันว่าถึงแม้จะมีบริษัทประกันมาดำเนินการหรือไม่ก็ตาม การดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ข้าราชการก็ต้องดีที่สุด ข้าราชการต้องได้ประโยชน์เต็มที่ และอยู่ในความควบคุมดูแลการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า” รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุ
 
   ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เวทีครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวิชาการ แม้จะมีมุมมองว่าบริการสุขภาพข้าราชการเป็นสวัสดิการสำคัญเพื่อส่งเสริมให้คนดี คนเก่ง เข้ามารับราชการ แต่ระบบก็ต้องสมเหตุสมผลทั้งเรื่องยาและค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะเลือกให้เอกชนมาดำเนินการหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องมีการลงทุนด้านฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลขนาดเล็ก เพื่อให้มีระบบการตรวจสอบได้ รวมถึงศักยภาพของกรมบัญชีกลางในการตรวจสอบการรับบริการสุขภาพด้วย ส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบด้านอื่นผ่านมาตรการนโยบายต่างๆ เช่น ส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล การใช้บัญชียาหลัก การจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ล้วนมีความจำเป็น และถ้าจำเป็นต้องเลือกให้เอกชนดำเนินการแทน อาจทดลองนำร่องบางส่วนหรือบางหน่วยงานก่อน เพื่อทดสอบว่าการตัดสินใจเลือกทิศทางประกันสุขภาพสำหรับข้าราชการนั้นเหมาะสมถูกต้องตามสมติฐาน
 
   “นโยบายนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเชื่อมโยงกับการปฎิรูประบบหลักประกันสุขภาพตามเนื้อความใน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้เร็วๆ นี้ ดังนั้น บทเรียนของเราที่มีอยู่ก็จะช่วยกันคิดออกแบบให้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีประสิทธิภาพและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจ่ายได้ในอนาคต”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ