ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติประกาศ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสร้างสังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติประกาศเดินหน้า น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผลักดันการขับเคลื่อนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติสู่สังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน พร้อมย้ำต้องนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปขับเคลื่อนให้ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
 
   วานนี้ (๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙) พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แสดงปาฐกถาพิเศษในวันสุดท้ายของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ ในหัวข้อ ‘ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน’ โดยกล่าวว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดและกรอบการทำงานที่ทันสมัย ซึ่งสอดคล้องกับสากลและแนวโน้มของโลกในปัจจุบัน คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อีกด้วย
 
   “ผมขอกล่าวในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯทุกท่านมีความตั้งใจจริงและมีส่วนร่วมในการผลักดันธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๙ ขึ้น ผมเชื่อว่าทุกท่านในที่นี้ก็คงทราบและคงจะรู้สึกยินดีที่ธรรมนูญระบบสุขภาพฉบับปัจจุบันได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลผูกพันหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ โดยธรรมนูญระบบสุขภาพถูกกำหนดให้เป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานด้านระบบสุขภาพของประเทศในอีก ๕–๑๐ ปีข้างหน้านี้ และในฉบับที่ ๒ นี้ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้น้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน เพื่อเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานมุ่งสู่ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์และสุขภาวะที่ยั่งยืนของบุคคลและสังคมไทยในอนาคต”
 
   พลเรือเอกณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ได้รับทราบว่าที่ประชุมมีฉันทมติรับรอง ๔ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ ๑.การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ ๒.น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ๓.การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และ ๔.สานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน พร้อมเน้นย้ำว่า ก้าวต่อไปที่ท้าทาย คือ การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้ง ๔ มติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาทางสุขภาพ
 
   “การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๘ ครั้งที่ผ่านมา มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปแล้ว ๖๙ มติ เมื่อรวมกับครั้งนี้เป็น ๗๓ มติ เรียกว่าอาจจะครอบคลุมเกือบทุกประเด็นของสุขภาพองค์รวม ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม สิ่งสำคัญที่ผมพูดเสมอ คือ ต้องให้ความสำคัญกับการนำมติต่างๆ ไปขับเคลื่อน ผมทราบว่าในที่ประชุมครั้งนี้มีมติที่มีรูปธรรมความสำเร็จประกาศชื่นชมไปแล้ว ๑๖ มติ แต่ในบางมติผมก็ยังเห็นว่ายังเป็นไปได้น้อยหรือช้า อาจไปติดปัญหา อุปสรรคบางเรื่อง จึงอาจต้องนำมติเก่ามาทบทวนและดูว่าจะปรับปรุงให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมอย่างไรได้บ้าง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงเป็นกลไกสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนมติด้วย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การผลักดันให้เกิดการนำแนวทางการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปปรับใช้กับการจัดสมัชชาสุขภาพในระดับพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่ต่างก็มีปัญหาเฉพาะของตน จึงอยากให้สมาชิกนำไปพิจารณา”
 
   นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของวันได้มีการเสวนา ‘ประเทศไทยยุค ๔.๐ พัฒนาแบบไหนที่ยั่งยืน’ โดยวิทยากรได้แก่ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านอิสาน, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีสาระ สำคัญโดยสรุปคือ การเชื่อมร้อยแนวทางการพัฒนาต่างๆ ตั้งแต่ภาพอนาคตของประเทศไทย ๔.๐ ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ล้วนมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นทิศทางในการก้าวไปข้างหน้าของประเทศไทย โดยมุ่งที่สุขภาวะที่ยั่งยืนอย่างเป็นองค์รวมเน้นคนเป็นศูนย์กลางและลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติต้องไม่ใช่เพียงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล แต่ต้องมีกระบวนการจัดทำให้เป็นยุทธศาสตร์ของคนในชาติ ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของทหาร ตำรวจ แต่เป็นความมั่นคงในมิติใหม่ทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคม ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน น้ำ คุณภาพชีวิต สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าทุกคนในชาติสามารถเริ่มต้นการพัฒนาด้วยมือของเราเอง ไม่ต้องรอรัฐบาลหรือผู้ใดมาทำให้ เริ่มปลูกป่า พัฒนาเรื่องใกล้ตัวตั้งแต่วันนี้ สมัชชาสุขภาพแห่งชาตินับเป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วม สร้างนโยบายสาธารณะและขับเคลื่อนประเทศร่วมกันต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ