- 26 views
การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ ๔/๒๕๕๙ ที่มี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบการแต่งตั้ง “คณะกรรมการระดับชาติ” เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม โดย คมส. จะนำเสนอต่อ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต่อไป
ท่านสามารถดูประกาศระเบียบวาระการประชุมได้โดยกดที่นี่
ตรงนี้ถือเป็นความก้าวหน้า ในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ ๘.๓ “ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม”
โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการระดับชาติชุดนี้ มี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา ส่วนกรรมการประกอบด้วยภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักนโยบายและแผน กระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว จะทำหน้าที่จัดทำและนำเสนอยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ที่มุ่งเน้นบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง การประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการต่าง ๆ เพิ่มเติม ได้ตามความเหมาะสม
“ ประชากรในเขตเมืองมีจำนวนมาก และมีโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุข ในสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กทม. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน แต่ไม่มีเจ้าภาพดูแลอย่างชัดเจน ต่างคน ต่างดำเนินการ จึงเกิดปัญหาที่หลากหลาย ซับซ้อน ไม่น่าเชื่อว่ามีคนยากจนที่ขาดโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพ มากกว่าคนในชนบทด้วยซ้ำ ดังนั้น การจัดทำยุทธศาสตร์ฯ จะบูรณาการทุกหน่วยงาน ให้ทำงานอย่างเข้มแข็ง สนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิมากขึ้น นำไปสู่คุณภาพชีวิตสังคมของคนเมืองที่ดีขึ้น”
ที่ประชุม คมส. ยังรับทราบ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ในเรื่องความก้าวหน้าแนวทางการประสาน สนับสนุน การทำงานร่วมกันของแผนงาน โครงการการมอบหมายงานผู้บริหาร (Chief Integrated Program Officer : CIPO) ของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ กับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
นพ. ศุภกิจ กล่าวว่า มี มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จำนวน ๖๙ มติ ขณะที่ CIPO มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน ๖๗ แผนงาน ซึ่งหลายประเด็นมีความเชื่อมโยงกัน หรือเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งสองส่วนจึงควรมีการประสานงานเพื่อขับเคลื่อนหนุนเสริมกัน เพราะในส่วนของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในภาคประชาสังคม ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ก็มีความเข้มแข็งในการดำเนินงาน เพราะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นประธาน CIPO ชุดต่าง ๆ
“ การสร้างความร่วมมือของการทำงาน ทั้งในส่วนของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ร่วมกับ คณะทำงานของ CIPO ในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยให้เกิดการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน หรือผสานความร่วมมือกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนได้ต่อไป”
นอกจากนั้น ที่ประชุม คมส. ยังรับทราบรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย มติ ๖.๒ เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย (NCDs) มติ ๗.๓ การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน มติ ๘.๔ นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ
รวมถึงความก้าวหน้าจาก คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ประกอบด้วย มติ ๒.๙ การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน มติ ๓.๑ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน มติ ๕.๗ พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ และมติ ๗.๑ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากปัจจัยเสี่ยง พร้อมด้วยการดำเนินงานของ คณะทำงานขับเคลื่อนกลุ่มมติเกษตรและอาหารปลอดภัย และคณะทำงานขับเคลื่อนกลุ่มมติเด็กกับสื่อ
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143