- 42 views
เวทีรับฟังความเห็น หนุนสร้าง “สังคมจักรยาน” ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สธ.เผยนำกระบวนการประเมินผลกระทบสุขภาพ หรือ HIA ดึงทุกภาคส่วนได้เสียเข้าร่วม ลดความขัดแย้งในการใช้ถนน หวังทางจักรยานเชื่อมกรมกอง และเดินทางไปต่อรถไฟฟ้า ขณะที่ รพ.ศรีธัญญา ร่วมใช้ดูแลเยียวยาคนไข้ คาดปี ๒๕๕๙ เห็นผลเป็นรูปธรรม
เมื่อบ่ายวันที่ ๑๘ ธ.ค. ๒๕๕๘ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย โดย พญ.มยุรา กุสุมม์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรในกระทรวง ผู้ใช้รถ ชุมชนโดยรอบ และหน่วยงานตามเส้นทางจักรยาน ในการผลักดันการสร้างกระทรวงสาธารณสุขให้เป็น ‘สังคมจักรยาน (Bike Society)’ เพื่อเป็นต้นแบบในการสนับสนุนการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๕๖ โดยมอบหมายกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง
แต่การออกแบบก่อสร้าง จำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของชาวสาธารณสุขและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้ทางจักรยาน (Bike Lane) สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง โดยนำ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA มาประยุกต์ใช้ ซึ่ง นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการฯ กล่าวว่า
“กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายในการสร้างสังคมจักรยาน เพื่อกระตุ้นการออกกำลังกายของเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ผ่านการใช้จักรยาน รวมทั้งเชื่อมต่อการทำงานระหว่างกรมกองต่างๆ แทนการใช้รถยนต์ เช่น การเดินเอกสาร และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าที่ผ่านหน้ากระทรวงซึ่งจะแล้วเสร็จปีหน้า ทั้งนี้ เวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ที่เกิดขึ้น จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วม รับฟังข้อห่วงกังวลต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง เช่น ความปลอดภัยในการปั่น การรบกวนที่จอดรถ หรือรบกวนคนไข้ของ รพ.ศรีธัญญา เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายสนับสนุนการใช้จักรยานในการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ อาทิ การใช้จักรยานออกเยี่ยมผู้ป่วยของ รพ.สต. เป็นต้น”
จากการหารือกับ ผู้อำนวยการ รพ.ศรีธัญญา เพื่อร่วมกันนำจักรยานมาเป็นกลไกเสริมในการเยียวยาคนไข้ โดยจัดให้คนไข้ของ รพ. รับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ เช่น ให้เช่าจักรยาน ซ่อมจักรยาน หรือร้านกาแฟ เป็นต้น สำหรับงบประมาณสร้างเลนจักรยาน ทั้ง ๔ เส้นทาง ระยะทาง ๖,๙๓๕ เมตร ใช้วงเงินกว่า ๒๐ ล้านบาท ซึ่งจะไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่จะเปิดให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการ
นพ.ทวีเกียรติ์ บุญยไพศาลเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากมติ ครม. ที่เห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้เกิดผลทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายการดำเนินงานตามมติฯ ดังกล่าว โดยจัดทำโครงการ Bike Society สช. จึงได้เข้ามาเสริมหนุนให้มีการดำเนินงานบนหลักการการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านเครื่องมือ HIA อีกทั้งได้เชื่อมประสานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนมติฯ เข้าร่วมดำเนินการ
นางสาวสิริวรรณ จันทนจุลกะ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า ในกระบวนการทำ HIA โครงการ Bike Society นี้ จะรับฟังความคิดเห็นและประเมินผลกระทบ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินโครงการ อันจะนำไปสู่การกำหนดมาตรการความปลอดภัย และปรับปรุงแก้ไขจุดที่เป็นข้อกังวล เพื่อให้เลนจักรยานใช้งานได้จริง
“เราต้องการรับฟังผู้มีส่วนได้เสีย เพราะการใช้จักรยานมีข้อดีเรื่องการลดมลพิษและพลังงาน แต่ก็มีข้อเสีย เช่น อุบัติเหตุ การแย่งพื้นที่ที่เคยเป็นที่จอดรถ หรือพื้นที่ที่เคยเป็นที่ขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า ทำให้สูญเสียอาชีพ เป็นต้น”
โดยรับฟังความเห็นจากบุคลากรของกรมกองต่างๆ ภายในกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานอื่นที่อยู่ตามเส้นทางจักรยาน กลุ่มรถเมล์สาย ๙๗ ผู้ค้าขายริมเส้นทาง ผู้ขับขี่รถจักรยาน มอเตอร์ไซด์และรถยนต์ที่มาร่วมใช้เส้นทาง เป็นต้น ในวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น การเปิดเวทีรับฟังความเห็น สนทนากลุ่ม หรือสอบถามโดยตรง
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขริเริ่มโครงการ Bike Society ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเป็นตัวอย่างให้กับกระทรวงอื่นๆ ต่อไป แต่ต้องย้ำว่าการพัฒนาทางวิศวกรรมศาสตร์ เช่น การสร้างเลนจักรยานเป็นเรื่องง่าย สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ต้องทำให้คนใช้จริงๆ เพราะปัจจุบัน เลนจักรยานหลายจุดไม่มีการใช้งาน จึงต้องยกเลิกไป
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีประชาชนสนใจขี่จักรยานจำนวนมาก แต่ชมรมฯ จะรณรงค์ต่อไปให้คนฐานราก ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมากยิ่งขึ้น”
ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ สรุปว่า สังคมจักรยาน หรือ Bike Society จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการใช้จักรยานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องทำให้เลนจักรยานสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง มีการใช้จักรยานเพื่อการเดินทาง เพื่อการทำงาน และประโยชน์ท้ายที่สุดคือใช้เพื่อออกกำลังกาย
“หัวใจของความสำเร็จในโครงการนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถสร้างจิตสำนึกของคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับรถยนต์ ผู้ขี่จักรยานยนต์ และผู้ใช้จักรยาน ในการใช้ถนนร่วมกันได้อย่างไร” ดร.ธงชัย กล่าว
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143