- 350 views
ภาคีทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสเร่งรัดการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ทั้งการส่งเสริมให้พระสงฆ์มีเลข 13 หลักเพื่อเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพผ่านกลไกการปกครองคณะสงฆ์ จับคู่ 1 วัด 1 รพ./รพ.สต. การอบรมพระคิลานุปัฏฐาก การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์และชุมชน การร่วมพัฒนาให้เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพและร่วมในโครงการ บ-ว-ร ส่วนรายการ ‘สงฆ์ไทย ไกลโรค’ พร้อมเผยแพร่ผ่าน WBTV ณ วันที่ 28 กรกฎาคมนี้
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ที่วัดยานนาวา คณะกรรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ได้ประชุมในครั้งที่ 2/2562 เพื่อติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อนฯ โดยตั้ง ‘คณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ’ ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อผลักดันการขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์ในภาพรวมให้บรรลุตามเป้าหมาย
ที่ประชุมยังมีการรายงานถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อจัดทำฐานข้อมูลพระภิกษุและสามเณรเพื่อการใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลพระสงฆ์ โดย พศ. ได้จัดเก็บข้อมูลพระภิกษุแล้ว 152,283 รูป คิดเป็นร้อยละ 58 ของพระภิกษุทั่วประเทศ ซึ่ง สปสช. ได้นำไปตรวจสอบแล้ว ในเบื้องต้นพบว่ามีพระภิกษุร้อยละ 83 ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนอีกร้อยละ 17 เป็นสิทธิอื่นๆ หรือเสียชีวิตหรือย้ายไปอยู่ต่างประเทศ และมีบางส่วนที่ข้อมูลเลข 13 หลักคลาดเคลื่อน ต้องทวนสอบใหม่
“ผลจากการสานพลังระหว่าง พศ. และ สปสช. ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า เมื่อพระสงฆ์อาพาธจะมีหลักประกันในการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพโดยรัฐบาล ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งหมดเป็นผลพวงจากการได้ร่วมกันทำตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้” นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานกรรมการฯ ฝ่ายฆราวาส กล่าว
ในส่วนอีก 4 กิจกรรมเป้าหมาย ได้แก่ การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ วัดส่งเสริมสุขภาพ การอบรมพระคิลานุปัฏฐาก และการส่งเสริมให้วัดร่วมพัฒนาชุมชนคุณธรรมตามพลังบ-ว-ร (บ้าน-วัด-โรงเรียน) กองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2562 ว่า จากวัด 41,336 แห่ง ใน 13 เขตทั้งหมด ได้จับคู่กับ รพ. หรือ รพ.สต. หรือศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อการดูแลสุขภาพพระสงฆ์จำนวน 9,737 แห่ง แต่เมื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของวัดพื้นที่เป้าหมายหลัก 5,000 แห่งที่ต้องดำเนินงานให้ครบ 5 กิจกรรมเป้าหมายหลักในปี 2562 พบวัดที่พระสงฆ์ สามเณรได้ตรวจคัดกรองสุขภาพแล้ว 2,689 แห่ง เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพแล้ว 1,862 แห่ง ได้อบรมพระคิลานุปัฏฐากไปแล้ว 1,611 รูป และเป็นวัดในโครงการบวร 618 แห่ง ซึ่งสิ้นเดือนมิถุนายนนี้จะต้องมีวัดที่ได้ดำเนินงานครบทั้ง 5 กิจกรรมเป้าหมายหลักจำนวน 3,000 วัด
ด้าน พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ประธานอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ฯ ฝ่ายบรรพชิต เสนอให้แจงรายละเอียดว่า แต่ละวัดได้ดำเนินงานใน 5 กิจกรรมเป้าหมายสำคัญใดบ้าง นำมาวิเคราะห์ชี้จุดอ่อนและส่งข้อมูลกลับลงสู่พื้นที่เพื่อปรับแผนดำเนินงาน และเสนอให้จัดเก็บข้อมูลการจัดกิจกรรมอื่นๆ ในวัดที่ให้บริการด้านสุขภาพกับชุมชนเพิ่มเติม เช่น บางวัดมีนวดแผนไทย รักษามะเร็ง ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย และกระบวนการต่างๆ ที่มีชื่อเสียง ถ้าคัดออกมาได้ก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีว่าวัดเหล่านี้ทำหน้าที่บริการสังคม จะทำให้บทบาทของวัดมีพลังต่อชุมชนมากยิ่งขึ้น
นพ.กิตติ ลาภสมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก รายงานว่า ในภาพรวมทั้งประเทศ หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 13 เขตสุขภาพได้ร่วมกันเร่งดำเนินการ จนถึงปัจจุบันมีวัดส่งเสริมสุขภาพแล้วจำนวน 4,007 แห่ง มีพระคิลานุปัฏฐากแล้วจำนวน 3,796 รูป
นางยอดขวัญ รุจนกนกนาฏ ผู้แทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ได้หารือคณะอนุกรรมการวัดส่งเสริมสุขภาพฯ เพื่อร่วมมือกันในการจัดทำสื่อเกี่ยวกับสุขภาพพระสงฆ์ “สงฆ์ไทย ไกลโรค” ซึ่งเป็นการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ขณะนี้ผลิตไปแล้ว 18 ตอนจาก 80 ตอน กำหนดเผยแพร่สู่สาธารณะผ่าน WBTV ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้
นางนุชศรันย์ จิตอารีย์ ผู้แทนจากกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รายงานว่ากรุงเทพมหานครได้รับมอบเป้าหมายให้ดำเนินงานในปี 2562 จำนวน 53 วัดซึ่งจะขยายให้ครบ 68 วัดตามจำนวน ศบส. จึงได้จัดทำโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสำหรับพระสงฆ์ในกรุงเทพมหานครภายใต้หลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก โดยร่วมกับคณะปกครองสงฆ์จังหวัดกรุงเทพมหานครและสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง (สสม.) กรมอนามัย ขณะนี้ได้จัดอบรมพระคิลานุปัฏฐากแล้ว 726 รูปจาก 290 วัดใน 6 กลุ่มเขต อยู่ระหว่างการจัดทีมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ ได้พบปัญหาความร่วมมือจากพระสงฆ์ซึ่งเกิดจากการมีหน่วยงานองค์กรอื่นมาตรวจสุขภาพก่อนหน้านี้ไปแล้ว จึงต้องหาวิธีดำเนินการใหม่
ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีที่มาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เรื่อง พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ กระทั่งปี 2560 ด้วยความร่วมมือของหลายภาคส่วน พระพรหมวชิรญาณ ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม (มส.) จึงได้ประกาศ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 โดยกำหนดให้สุขภาวะพระสงฆ์เป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่ทุกภาคส่วนจะมาร่วมผลักดันและขับเคลื่อน
ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีหลักปฏิบัติประกอบด้วย 5 หมวด คือ หมวดที่ 1 ปรัชญาและแนวคิดหลักของธรรมนูญสุขภาพของพระสงฆ์แห่งชาติ หมวดที่ 2 พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพของตนเองตามหลักพระธรรมวินัย หมวดที่ 3 ชุมชนและสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย หมวดที่ 4 บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม และหมวดที่ 5 การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143