- 1117 views
คณะสงฆ์ภาค 11 จัดเวทีใหญ่ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ตั้งเป้า ‘พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข’ ด้านกระทรวงสาธารณสุขพร้อมหนุนเต็มที่ผ่านกลไกทุกระดับ ขณะที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมขับเคลื่อนฯ คาดบรรลุผลใน 10 ปีโดย “ใช้ทางธรรม นำทางโลก” ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 คณะสงฆ์ภาค 11 จัดการประชุม ‘ประสานการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะว่าด้วยการพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์ในเขต ภาค 11 (เขตสุขภาพที่ 9)’ ณ วัดดอนขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพระสังฆาธิการจาก 4 จังหวัดนครชัยบุรินทร์ในระดับจังหวัดและอำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและจังหวัด และภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนเข้าร่วมเพื่อสรุปภาพรวม ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ในภาค 11 ที่ผ่านมา รวมถึงหารือเชื่อมโยงการทำงานของคณะสงฆ์ภาค 11 กับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ ในเขตสุขภาพที่ 9 เพื่อร่วมกันกำหนดวิธีการทำงานพัฒนาวัดและชุมชนพื้นที่เป้าหมายทั้งในระดับจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นสู่การบรรลุเป้าหมาย “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” สู่การจัดทำแผนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ในปี 2562-2564
พระธรรมเจดีย์ รักษาการเจ้าคณะภาค 11 และเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของงานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม
มีเป้าหมาย คือ “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กรมการศาสนา และเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 9
“คณะสงฆ์ได้ทำการสำรวจข้อมูลพระสงฆ์เพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้าถึงสิทธิ คือ สำรวจเลข 13 หลักของพระสงฆ์ให้ครบถ้วน หลายรูปที่บวชนานก็อาจไม่ได้ดูว่าสิทธิของตนอยู่ที่ไหน สำหรับพระที่ไม่รู้ก็ทำให้เกิดความชัดเจน โดยย้ายมาอยู่ทะเบียนบ้านของวัด เพื่อให้เกิดการดูแลสิทธิการรักษาพยาบาล”
นอกจากนี้ ยังจะทำการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ เป็นการจับคู่ระหว่างวัดกับโรงพยาบาลในการดูแลรักษาและตรวจสุขภาพ และอีกบทบาทหนึ่งของการสาธารณสงเคราะห์ คือ
การบูรณาการทำให้วัดเป็นพื้นที่สัปปายะสถาน หรือพื้นที่สาธารณะเชิงสุขภาวะของชุมชนและสังคม
ศ. (พิเศษ) ดร.นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 9 กล่าวว่า สธ. ให้ความสำคัญกับการดูแลอุปัฏฐากสุขภาพของพระสงฆ์ว่าเป็นนโยบายสำคัญ โดยมีหนังสือสั่งการไปยังทุกจังหวัดร่วมดำเนินการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์และสายงานของสาธารณสุขจังหวัดขับเคลื่อนผ่านไปยังโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอและตำบล
“เมื่อประชุมร่วมกันเสร็จ จะสนับสนุนให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะสงฆ์และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อจัดทำโครงการถวายความรู้และตรวจสุขภาพพระสงฆ์โดยใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับท้องถิ่น และที่สำคัญเพื่อให้มีพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด (พระ อสว.) อย่างน้อย 1 รูปในวัด เพื่อดูแลสุขภาพตัวท่านเองและพระสงฆ์ที่อยู่ในวัด และทำงานเป็นเครือข่ายพระ อสว. ตั้งแต่ระดับตำบล-อำเภอ-จังหวัด-เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขทำมานานแล้ว และจะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายใหญ่ที่ครอบคลุมวัดทุกแห่งทั่วประเทศ นี่คือนโยบายเกี่ยวสุขภาวะพระสงฆ์ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ที่เขียนขึ้น โดยยึดเป็นเกณฑ์ไว้และมีความร่วมมือระหว่างพระสงฆ์กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราอย่างดี”
ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 กล่าวว่า ทิศทางสำคัญของการทำงานคือ “ใช้ทางธรรม นำทางโลก” ที่ได้รับคำแนะนำจากพระพรหมบัณฑิต(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ปรึกษาการขับเคลื่อนฯ ให้บรรลุเป้าหมาย “พระแข็งแรง
วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ให้ได้ภายใน 10 ปี ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญที่กำหนดไว้ในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ
พ.ศ. 2560
“ยุทธศาสตร์แรก พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ยุทธศาสตร์ที่ 2 ชุมชนและสังคม กับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย ยุทธศาสตร์ที่ 3 บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม เป็นการรื้อฟื้นให้วัดกลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการสร้างและดำรงสุขภาวะใน 4 มิติ ทั้งกาย-จิต-ปัญญา-สังคม”
อนึ่ง การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นโดยความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10 หน่วยงาน อาทิ มหาเถรสมาคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กรมการศาสนา กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสังฆะเพื่อการพัฒนา เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ฯลฯ
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143