สช.-สธ.ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อน มาตรฐานการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หนุนการจัดทำแนวทางมาตรฐานในการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ เรื่อง “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” โดยมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำร่างแนวทางฯ ร่วมกับสภาวิชาชีพ สถาบันวิชาการ และหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง เชื่อประชาชนได้ประโยชน์ในการเลือกบริการตรวจสุขภาพที่เหมาะสม พร้อมเตรียมนำเข้าเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ วันที่ ๒๑-๒๓ ธ.ค.นี้ และนำร่องใช้เป็นมาตรฐานในโรงพยาบาลสังกัด สธ.
 
   เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน กระทรวงสาธารณสุข
 
   นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพฯ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีการตรวจสุขภาพที่เกินจำเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องการสร้างมาตรฐานการตรวจสุขภาพขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชนได้อย่างเหมาะสม
 
   นพ.สุพรรณ กล่าวว่า กรมการแพทย์ ได้ศึกษาวิจัยและรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมาสู่การยกร่างแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน พร้อมนำเข้ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หลังจากนั้นจะกลับไปปรับปรุงอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และจัดทำเป็นคู่มือเพื่อสื่อสารไปยังประชาชนทุกช่องทาง รวมถึงนำไปดำเนินการ โดยเริ่มจากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้แนวทางฯ ที่เสร็จเรียบร้อยแล้วยังนำไปพิจารณาเพื่อการวางระบบการตรวจสุขภาพสำหรับทั้ง ๓ กองทุนสุขภาพหลัก ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือสวัสดิการของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป
 
   “แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนนี้ ไม่ได้เป็นภาคบังคับ แต่เป็นการวางมาตรฐานที่เหมาะสมกับประเทศไทย และเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วน และประชาชนได้นำไปใช้”
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน อยู่บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประกอบด้วย “๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข” คือ ความพอดี พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีสำนึกในสิ่งที่กำลังทำ บนฐานของความรู้และคุณธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ
 
   “ในช่วงปีใหม่ เราจะพบการโฆษณาชวนให้ซื้อแพ็คเกจตรวจสุขภาพเป็นของขวัญให้แก่คนรัก บางแพ็คเกจราคาแพงถึง ๒-๔ หมื่นบาท ซึ่งมักเป็นการตรวจสุขภาพที่เกินจำเป็น ดังนั้น แนวทางการตรวจสุขภาพฉบับนี้จึงเป็นแนวทางที่ดี ที่จะปรับให้การตรวจสุขภาพของประชาชนอยู่บนหลักของความพอดี พอเพียง มากขึ้น”
 
   นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น กล่าวว่า ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ บางครั้ง สูงกว่าการตรวจวินิจฉัยหรือตรวจเพื่อรักษาโรคด้วยซ้ำ ซึ่งจากประสบการณ์ของตนเองพบว่า การตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคหัวใจ หรือแพ็คเกจประเมินหัวใจในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมีราคาสูงถึง ๑๕,๐๐๐ บาท ขณะที่ไปตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคหัวใจโดยตรงในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง มีค่าใช้จ่ายเพียงพันกว่าบาทเท่านั้น
 
   ดังนั้น แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นฉบับนี้ จึงมีความสำคัญ และต้องขอฉันทมติในเวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ วันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคมนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับ ก่อนนำไปเผยแพร่ให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง ขณะเดียวกัน ต้องมีการปรับปรุงตลอดเวลาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมีความทันสมัย
 
   “แนวทางการตรวจสุขภาพดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มวัย ซึ่งรวมถึงตัวเราเองด้วย”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ