กรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดประชุมวิชาการเอชไอเอนานาชาติ รวมพลังเครือข่าย สร้างประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เปิดฉากการประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน การประเมินผลกระทบและการบรรเทาผลกระทบภายใต้แนวคิดความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ ๑ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำความร่วมมือระดับประเทศ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสู่สังคมสุขภาวะภูมิภาคอาเซียน แบ่งปันเอื้ออาทรควบคู่กับการพัฒนา
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และ ๒๓ หน่วยงาน สนับสนุนงบประมาณ และบุคลากรจัดประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน เรื่อง การประเมินผลกระทบและการบรรเทาผลกระทบภายใต้แนวคิดความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ ๑ (The 1st ASEAN Conference on “Impact Assessment and Mitigation under the theme of Towards ASEAN Engagement and Sustainable Development”) ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งไทยและต่างประเทศครอบคลุมภาคราชการ ภาคการเมือง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น และนักวิชาการ เข้ารวมกว่า ๕๐๐ คน
 
   พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 หรือ 2015 เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจะถูกประยุกต์ใช้กับยุทธศาสตร์การพัฒนาทุกนโยบายใส่ใจสุขภาวะ และถึงแม้ว่าอาเซียนจะมีการสนับสนุนการค้าการลงทุนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ควรพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสังคมและสุขภาพควบคู่ไปด้วย และผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้แผนปฏิบัติการของผู้ประสานงานเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียน ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมอาวุโสด้านการสาธารณสุขระดับอาเซียนครั้งที่ ๑๑ ซึ่งจะจัดขึ้นในปีหน้าที่ประเทศบรูไนต่อไป
 
   “การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย ข้อมูลหลักฐานระหว่างนักวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการประเมินผลกระทบ พร้อมทั้ง สนับสนุนการสร้างนโยบายสาธารณะที่ใส่ใจสุขภาพ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ และการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะในภูมิภาคอาเซียน”
 
   ด้าน นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และ ประธานการจัดประชุมฯ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุขอาเซียน (SOMHD) ครั้งที่ ๙ เมื่อปี ๒๕๕๗ ที่จังหวัดเชียงราย มอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการเพื่อสร้างเสริมศักยภาพเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียน จัดทำแผนปฏิบัติ และกรอบดำเนินการประเมินผลกระทบ (Impact Assessment : IA) ไปอีก ๕ ปีข้างหน้า ที่จะทำให้การรวมตัวของประเทศอาเซียนเป็นสังคมหนึ่งเดียวที่มีความเอื้ออาทร ควบคู่ไปกับการพัฒนา
 
   โดยการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ถือเป็นหัวใจของการประเมินผลกระทบ เนื่องจากเรื่องของ “สุขภาพ” เกี่ยวข้องกับทุกนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาการประเมินผลกระทบ มักเกิดข้อขัดแย้งเรื่องรับการรับรู้และการมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายผู้ลงทุน ผู้สนับสนุนนโยบาย และชุมชน ดังนั้น ภาควิชาการจึงเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่จะช่วยสื่อประสานข้อมูลข่าวสารให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ และความขัดแย้งในสังคม และก่อให้เกิดความร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการจัดทำระบบประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่จะเป็นรากฐานของการดูแลสุขภาวะของสังคม
 
   การประชุมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรจาก ๒๔ หน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) องค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะด้านการสร้างเสริมสุขภาพของไทยระดับนานาชาติ หรือ Thai Health Global Link Initiative Program (TGLIP) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) และกรีนพีชนานาชาติ
 
   โดยมีผู้สนใจจากหลายภาคส่วนและให้เกียรติเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก อาทิ ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศอาเซียนและนานาชาติ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ คณบดีคณะสาธารณสุขของประเทศในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกเอกชน ชุมชน ผู้ปฏิบัติงานการประเมินผลกระทบในกลุ่มประเทศอาเซียนรวมกว่า ๕๐๐ คน
 
   ศ.ดร.สุจิน จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมวิชาการซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนงานวิชาการเรื่องการประเมินผลกระทบทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดน นอกจากนี้จังหวัดพิษณุโลกตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย และมีแยกอินโดจีนเป็นเส้นทางสำคัญทางการค้าของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งสร้างโอกาสทางการค้าของประเทศไทยและในทางกลับกันอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบจากการพัฒนานี้ได้ด้วย ดังนั้นเครื่องมือการประเมินผลกระทบจึงควรทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบให้กับภูมิภาคของเรา
 
   นอกจากนี้การประชุมนี้ยังจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Eco Conference เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจะลดการใช้กระดาษ โฟม ถุงพลาสติก โดยจะจัดเตรียมกระติกน้ำและจุดกรอกน้ำ ใช้ Thumb drive บรรจุเอกสารประกอบการประชุม เป็นต้น
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ