เอดีบีหนุนโครงการพลังงานสะอาด เชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาพลังงานในภูมิภาคอาเซียน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) หนุนโครงการพลังงานสะอาด หนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งเป้า 5 ปี ขยายปล่อยกู้ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เร่งพัฒนาพลังงานและโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน ขณะที่กรีนพีซยกบทเรียนความเสียหายจากมลพิษโรงไฟฟ้าถ่านหินอินโดนีเซีย เตือนประเทศสมาชิกอาเซียนทบทวนแผนขยายโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชี้ต้นทุนต่ำแต่ไม่คุ้มค่าการป้องกันเยียวยาผลกระทบ
 
   ในการประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน เรื่อง การประเมินผลกระทบและการบรรเทาผลกระทบภายใต้แนวคิดความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ ๑ (The 1st ASEAN Conference on “Impact Assessment and Mitigation under the theme of Towards ASEAN Engagement and Sustainable Development”) ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้มีเวทีการเสวนา เรื่อง “ผลกระทบจากการลงทุนข้ามชาติโดยเฉพาะจากการพัฒนาพลังงานอาเซียนและโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (Asean Power Grid)” เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาจาก ๓ หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรีนพีซ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
   มร. จ๋าย หย่งผิง ที่ปรึกษาทางเทคนิคด้านพลังงาน ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า ภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศสมาชิกมีแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าของตัวเอง และแผนพัฒนาพลังงานและโครงข่ายไฟฟ้าร่วมกันระหว่างเครือข่ายอาเซียน (Asean Power Grid) ซึ่งปัจจุบันธนาคารให้การสนับสนุนเงินทุนรวมกว่า ๔ พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี ๕ ปีข้างหน้า หรือในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ADB จะขยายวงเงินกู้เพิ่มขึ้นเป็น ๗ พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งสัดส่วนให้กู้ยืมแก่โครงการพลังงานอาเซียนร้อยละ ๖๐ และโรงไฟฟ้าทั่วไปของแต่ละประเทศร้อยละ ๔๐
 
   อย่างไรก็ตาม ADB มุ่งให้ความสำคัญกับโครงการพลังงานที่สะอาดเป็นอันดับต้น ทั้งในส่วนของโครงการพลังงานทดแทน (Renewable energy) อาทิ โครงการพลังงานจากแสงอาทิตย์ น้ำ ลม ชีวมวล เป็นต้น และโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy efficiency) โดยคาดว่าจะเพิ่มวงเงินการสนับสนุนจาก ๒ พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น ๓ พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งโครงการต่างๆ ที่ขอรับการสนับสนุนจะต้องดำเนินการประเมินผลกระทบให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ ซึ่งหากเป็นโครงการร่วม หรือโครงการที่มีแนวชายแดนร่วมกัน จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศสำหรับการประเมินโครงการเพื่อป้องกันผลกระทบด้านต่างๆ ด้วย
 
   “ADB ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงพลังงานของประชาชนโดยเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีทันสมัย เงินทุน แผนธุรกิจ และการเชื่อมโยงพลังงานในภูมิภาค ซึ่งเป็นหนทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน”
 
   ด้าน ดร. คาร์ล มิดเดิลตั้น อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในภูมิภาคอาเซียนมีโครงการพัฒนาด้านการจัดการน้ำซึ่งมีความใกล้ชิดกับการพัฒนาไฟฟ้าและอาหาร โดยจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค ยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา
 
   “สิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ คือ ที่ตั้งของการดำเนินโครงการนั้นสำคัญมาก โครงการอาจจะตั้งอยู่ระหว่างชายแดน มีผลกระทบต่อประชาชน หรือแม้แต่จะทำจากประเทศเดียว ก็อาจจะกระทบกับหลายชาติ เราสามารถดำเนินการทั้งระดับประเทศและภูมิภาคในการจัดการน้ำและไฟฟ้า มีการร่วมงานกันก็จะทำให้การแก้ปัญหา สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมๆ กับการสร้างมาตรฐานใหม่ให้คนทุกคนจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เท่าเทียมกันและปลอดภัย”
 
   มร.อารีฟ ฟิยันโต ผู้ประสานงานกรีนพีซภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านสภาพอากาศและพลังงาน ประจำสำนักงานประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศอินโดนีเซียต้องเผชิญกับปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีผู้คนเจ็บป่วย เสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ หลายประเทศในอาเซียนก็กำลังจะมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกหลายโรง เนื่องจากต้นทุนของถ่านหินต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ดังนั้นคาดว่าหากไม่มีการควบคุม ก็จะส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ประชากรในภูมิภาคและโลกเป็นวงกว้าง
 
   “มาตรฐานด้านความปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการปรับมาตรฐานใหม่ให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จัดกระบวนการประเมินผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ และควรหยุดแผนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้จะมีต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถูก เพราะเมื่อคำนวณถึงงบประมาณในการป้องกันและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว นับว่าเป็นต้นทุนที่แพงเลยทีเดียว ซึ่งขณะนี้หลายประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เริ่มหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และหันมาพัฒนาพลังงานทดแทนกันมากขึ้นแล้ว”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ