ยกระดับขาขึ้น-ขาเคลื่อน สู่รูปธรรมความสำเร็จ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   “สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย” ... คือธีมหลักของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๕๘ ปลายปีนี้ เป็นงานใหญ่ที่พี่น้อง สมัชชาสุขภาพจากทั่วประเทศ ทุกจังหวัด จะได้มาร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพกันอีกครั้ง
 
   โดยเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดการประชุม คณะทำงานพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่มี อ.รัตนา สมบูรณ์วิทย์ เป็นประธาน ณ ห้องประชุมสุชน ชั้น ๒ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี
 
   ที่ประชุมได้พิจารณา (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๘ โดยมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ไปจากในปีที่ผ่านมาพอสมควร ด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของพี่น้องภาคีเครือข่าย และยกระดับประสิทธิภาพของกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ไปสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
 
   “ถือเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ให้น้ำหนักไปที่ระเบียบวาระขาขึ้น โดยสนับสนุนภาคียุทธศาสตร์และภาคีพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมเสนอนโยบาย และให้น้ำหนักกับขาเคลื่อน คือหลังจากมีมติออกมาแล้ว จะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไปให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน” อ.สุรเดช เดชคุ้มวงศ์ หนึ่งในคณะทำงานฯ กล่าว
 
   ร่างหลักเกณฑ์การจัดสมัชชาฯฉบับใหม่ ระบุให้มี คณะอนุกรรมการประสานการพัฒนานโยบายสาธารณะกับพื้นที่และภาคียุทธศาสตร์ เข้าที่มาแทนที่ คณะอนุกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะมีบทบาท ภารกิจสำคัญ ในการประสานและสนับสนุนภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ และภาคียุทธศาสตร์ ให้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนานโยบายฯ แบบเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น
 
    ขณะที่ อ.สุรพงษ์ พรมเท้า คณะทำงานฯอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ครั้งที่ ๑-๗ ได้ผลักดันให้เกิดมติขึ้นมาแล้วกว่า ๖๔ ประเด็น จึงจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทของ คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ที่มี นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ให้ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
 
   “ดังนั้น เพื่อให้มติทั้ง ๖๔ และมติที่จะเกิดขึ้นในปีต่อๆไป เกิดการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม ในร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาฯ จึงได้เพิ่มหมวดของ การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ บรรจุเข้าไปในร่างหลักเกณฑ์ฯครั้งนี้ด้วย”
 
   ความเห็นของภาคเครือข่ายอย่าง สมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปาง คุณศิริพร ปัญญาเสน เสริมว่า เห็นด้วยกับการพัฒนาร่างหลักเกณฑ์ฯครั้งนี้ เพราะภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งปฏิบัติการอยู่ จะสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงของนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จนเกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น
 
    นอกจากนั้น ร่างหลักเกณฑ์ฯใหม่ ยังอัพเดทและให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมในห้องประชุมอย่างมากด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมกันแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค จึงได้เขียนไว้ในร่างหลักเกณฑ์ฯว่า
 
   “ผู้เข้าร่วมประชุมควรตรงต่อเวลา มีส่วนร่วมในการประชุมอย่างสร้างสรรค์ ไม่ควรใช้ โซเชียลมีเดียในระหว่างการประชุม ยกเว้นเพื่อใช้ประกอบการทำงาน รวมถึงการปิดเสียงโทรศัพท์และไม่ใช้โทรศัพท์ระหว่างการประชุมและปฏิบัติตามกฎของสถานที่ประชุม”
 
    ทั้งนี้ ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ ที่ยกร่างแล้วเสร็จนี้ จะได้ดำเนินการส่งต่อให้ทางภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อสร้างความรับรู้ และความเข้าใจที่ตรงกันต่อไป
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ