- 157 views
สช.จับมือนักวิชาการ วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมือง ชี้ไม่มีพรรคใดวางนโยบายแก้ปัญหาระบบโครงสร้างสาธารณสุข ขาดการสร้างระบบป้องกันโรคที่มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี พร้อมระบุนโยบายด้านอื่นไม่ได้คำนึงมิติผลกระทบสุขภาวะทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการฟันธงนโยบายพรรคเป็นโปรโมชั่นการตลาด
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชน โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นองค์กรเลขานุการของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ รวมทั้งจัดให้มี หรือส่งเสริมสนับสนุนให้มีกระบวนการในการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ ซึ่งความหมายของคำว่า “สุขภาพ” นั้นกินความกว้างครอบคลุมแทบทุกเรื่อง ดังนั้น การมีนโยบายสาธารณะใดๆ ออกมาอาจส่งผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพได้ทั้งนั้น ดังนั้นในการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะพรรคการเมืองใดก็ตามเมื่อได้รับเลือกเข้าไปบริหารประเทศ ย่อมจะนำนโยบายที่ประกาศไว้มาสู่แนวทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ สช. จึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพของทุกพรรคการเมืองไม่เพียงแต่นโยบายด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่มีนโยบายอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพด้วย โดยมี ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย และดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองด้านสาธารณสุข และดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองด้านอื่นๆ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า นโยบายสาธารณะด้านสาธารณสุข ที่แต่ละพรรคการเมืองแข่งขันเข็นออกมาขายแบบจัดหนักจัดเต็มอยู่ในขณะนี้ เพื่อจูงใจลูกค้าซึ่งก็คือประชาชนให้ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคของตน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพลังงานที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ประกาศสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนโดยพร้อมหน้ากัน ไม่เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากวิกฤติการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น แต่แทบไม่พรรคใดเลยที่ประกาศเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน รวมถึงมิได้มีกลไกการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนด้วย เพราะนโยบายที่ประกาศออกมาจะสำเร็จได้ต้องมีเป้าหมายและกลไกที่ชัดเจน อย่างประเทศเยอรมันนีประกาศจะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 35 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในราคาที่จูงใจ และจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
นอกจากนี้ดร.เดชรัต ยังเห็นว่าที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากมาก แต่กลับไม่มีพรรคการเมืองใดที่สนใจในการนำเสนอนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากนัก อาจะเห็นว่าปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นปัญหาที่จำกัดวงเฉพาะในหมู่ประชาชนหรือฐานเสียงบางกลุ่มเท่านั้น อย่างไรก็ตามนโยบายที่น่าจะสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างมากคือ การสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลในอ่าวไทย นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้แล้ว ยังทำให้บบนิเวศวัฒนธรรมในพื้นที่ปากแม่น้ำเสียสมดุลอีกด้วย
ดร.เดชรัต กล่าวต่อว่า การนำเสนอนโยบายแบบโปรโมชั่นแบบแยกส่วน ที่พรรคการเมืองกำลังทำอยู่นี้ โดยไม่สนใจอธิบายถึงโครงสร้างปัญหาในภาพรวม เสมือนว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่มีปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ ไม่มีปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำของงบประมาณ และไม่มีปัญหาการกระจุกตัวของอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เมื่อพรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศ ไม่สนใจแตะประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็คงอนุมานได้ว่าปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งความฉาบฉวยตื่นตาของนโยบายจัดหนักเหล่านี้ อาจเป็นเพียงยาบรรเทาปวดชั่วครู่ชั่วคราว และประชาชนต้องหายาเม็ดใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้าก็อาจเป็นได้
“อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์แข่งขันจัดหนักของพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ทำให้เราได้เห็นว่า พรรคการเมืองเล็งเห็นความสำคัญของปัจจัยกำหนดสุขภาพในด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้านมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Health in all Policies โดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางสังคม ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สอดคล้องกับแนวคิดของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่มองระบบสุขภาพสอดประสานเชื่อมโยงไปกับการดำเนินชีวิตในทุกด้านของมนุษย์ แต่จะหวังให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหรือพัฒนานโยบายสาธารณะ อันมาจากการขบคิดหรือการแสดงเจตจำนงร่วมกันของคนในสังคม บอกได้เลยว่าคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน” ดร.เดชรัต ระบุพร้อมอธิบายต่อว่า
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนานโยบายสาธารณะก็ต่อเมื่อ พรรคการเมืองเข้าใจว่า ประชาชนเป็นมากกว่าลูกค้าที่จะมากาบัตรลงคะแนน และประชาชนเองก็ต้องตระหนักว่า ตนเองเป็น “พลเมือง” ที่เป็นเจ้าของประเทศนี้ ที่จะสามารถช่วยกันเสนอแนวคิด ร่วมปฏิบัติการ และร่วมรับผิดชอบต่อความเป็นไปของสังคม และมีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศเช่นกัน
ด้าน ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ร่วมกับ ดร.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า นโยบายพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเรื่องของการจัดระบบบริการสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ การมีส่วนร่วมของชุมชน และระบบสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส แต่นโยบายเกือบทั้งหมดถูกนำเสนอค่อนข้างกว้าง ส่วนหัวข้อที่มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพหรือระบบหลักประกันสุขภาพ เช่นการขยายสิทธิประโยชน์ การขยายโรงพยาบาลในระดับตำบล ซึ่งข้อเสนอต่างๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน และอาจยังมีขีดจำกัดด้านการให้บริการของระบบบริการในปัจจุบันโดยเฉพาะในพิ้นที่ขาดแคลนที่ขณะนี้ยังมีปัญหาการกระจายของบุคลากรด้านสาธารณสุข ในขณะเดียวกันนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่นำเสนอในลักษณะกว้างไม่ได้มีนวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า พรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสุขภาพใน 8 โรคร้ายแรกที่เป็นสาเหตุสำคัญให้ประชากรไทยทั้งไทยและหญิงป่วยและเสียชีวิต อาทิ โรคเอดส์ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งตับ เบาหวาน ฯลฯ มีเพียงบางพรรคที่ให้ความสำคัญกับปัญหาโรคเอดส์และโรคติดเชื้อรุนแรง หนทางแก้ไขในเรื่องนี้ เสนอว่าควรมีการสนับสนุนงานวิจัยที่มีความเชื่อมโยงกับนโยบาย หรือการพัฒนานวัตกรรมทางนโยบายเพื่อสุขภาพ และนำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้สร้างประสิทธิภาพแก่ตัวนโยบาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่ระบบสุขภาพที่ดีในอนาคต
“แม้ผลกระทบโดยตรงจะไม่มี แต่ผลกระทบเชิงอ้อมที่ไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผลอันเนื่องมาจากการแย่งชิงทรัพยากรในระบบสุขภาพทั้งงบประมาณและบุคลากร เพื่อไปตอบสนองนโยบายเฉพาะด้าน เช่น นโยบาย Medical Hub และ Medical Tourism ของบางพรรคการเมือง หากไม่มีมาตรการที่ดีพอ อาจทำให้เกิดภาวะสมองไหลของแพทย์และพยาบาลจากรัฐไปสู่ศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ หรือแม้แต่ การเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลในระบบประกันสุขภาพต่าง ๆ ก็อาจส่งผลให้งบประมาณเหลือน้อยลงสำหรับกิจกรรมด้านสาธารณสุขอื่น ๆ เป็นต้น” ดร.นพ.ปิยะกล่าว
นายแพทย์อำพล กล่าวในตอนท้ายว่า การที่พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายสาธารณะที่ออกมานั้น ควรคำนึงถึงความต้องการของภาคประชาชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งเครือข่ายสุขภาพต่างๆ ได้เฝ้าจับตาดูนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเข้าไปเป็นรัฐบาลว่าจะมีกลไกการจัดการที่สามารถนำนโยบายที่นำเสนอในช่วงหาเสียงไปสู่การปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140