เสนอ กนศ.หาทางออกเอฟทีเอ หวั่นผูกขาดยากระเทือนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

คณะกรรมการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แนะกรมเจรจาการค้าฯ มองเอฟทีเออย่างรอบด้าน เตรียมเสนอทางออกให้ กนศ. พิจารณา หลังผลศึกษาพบการขยายสิทธิบัตรยานาน 10 ปี อาจกระทบค่าใช้จ่ายด้านยาและการเข้าถึงยาของประชาชนกว่า 2 แสนล้านบาท หนุนทำข้อตกลงชดเชยผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
 
   การประชุม คณะกรรมการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มี ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยกรรมการจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการเจรจาการค้าเสรีทวิภาคี(เอฟทีเอ)ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป(อียู) และได้พิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในความตกลงการค้าเสรีซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยารักษาโรคของประชาชนไทย
 
   ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา กล่าวว่า การจัดทำข้อตกลงเอฟทีเอ เป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย แต่หลายฝ่ายยังมีความห่วงกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา โดยประชาชนอาจต้องซื้อยารักษาโรคที่แพงขึ้น ดังนั้น ที่ประชุมจึงขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยข้อมูลเรื่องกรอบการทำข้อตกลงกับอียูต่อที่ประชุมอย่างครบถ้วน และการเจรจาเอฟทีเอต้องพิจารณาข้อมูลผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป โดยขอให้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยผลกระทบที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เคยให้หน่วยงานวิชาการ เช่น ทีดีอาร์ไอ จัดทำซึ่งชี้ถึง แม้จะมีข้อมูลงานวิจัยว่าเอฟทีเอจะมีผลช่วยให้จีดีพีเติบโตขึ้น 3.5% แต่ก็มีผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนราคายาและการเข้าถึงยาภายในประเทศ
 
   นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิฯกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว ประเทศไทยทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ก็เพื่อส่งเสริมการส่งออกและพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การทำเอฟทีเอจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนด้วย ดังนั้น การเจรจาจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุปให้เร่งนำข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและผลกระทบต่อระบบสุขภาพต่อกลไกเจรจาการค้าของประเทศ หรือ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) พิจารณาต่อไป
 
   ข้อเสนอเชิงนโยบายที่คณะกรรมการฯเห็นตรงกันต่อทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้สำหรับการเจรจาการค้าเสรี คือต้องยืนยันและคงสถานะของการปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อตกลงทริปส์) ในกรณีของยารักษาโรค ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทุกประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO)ยอมรับ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาในประเด็นสิทธิบัตรและการผูกขาดเชิงพาณิชย์ได้ ก็ควรดำเนินการทางกฎหมายให้เกิดมาตรการเยียวยาและมาตรการรองรับผลกระทบภายในประเทศก่อนที่การเจรจาจะแล้วเสร็จ โดยต้องจัดสรรงบประมาณให้กับระบบบริการสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ตามรายได้ที่สูงขึ้นจากความตกลงทางการค้าเสรี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านยาและเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย และให้จัดสรรงบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนาอย่างเพียงพอเพื่อสนับสนุนให้คนไทยผลิตยาเองได้ ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ พร้อมทั้งให้รัฐกำหนดให้มีมาตรการควบคุมยาในประเทศอย่างจริงจัง
 
   ส่วนข้อเสนอที่ว่า หากคู่เจรจาต้องการให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการขอสิทธิบัตรนั้น ที่ประชุมเห็นว่าต้องเสนอให้มีการขยายระยะเวลาคุ้มครองสั้นที่สุด และหากจะมีการชดเชยเวลาให้เนื่องจากจากความล่าช้าต่างๆนั้นให้พิจารณาเป็นกรณีๆไป โดยจะชดเชยเวลาให้เมื่อพิสูจน์ได้ว่าความล่าช้านั้นเกิดจากหน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการจริงโดยให้ภาระการพิสูจน์อยู่ที่ผู้ขอสิทธิบัตร นอกจากนี้ ยังเสนอให้กำหนดให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากคู่เจรจาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านระบบสิทธิบัตรตามความต้องการของประเทศไทย รวมทั้งให้แบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยด้วย
 
   ข้อมูลจากเอกสารวิชาการของดร.ชุติมา อรรคลีพันธุ์ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เรื่อง “ความตกลงการค้าเสรี: การขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในยาให้มากขึ้น” พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยคิดเป็น 6.5% ของจีดีพี ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งหรือ 3% ของจีดีพี เป็นค่าใช้จ่ายยารักษาโรค ซึ่ง พบว่าประเทศไทยมียาที่สามารถผลิตได้เองในประเทศคิดเป็นสัดส่วนเพียง 35% ของมูลค่าตลาดยาในประเทศทั้งหมด ที่เหลือเป็นยานำเข้าทั้งสิ้น ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมีความห่วงกังวลว่า หากการเจรจาการค้าเสรีมีการนำเรื่องการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้เหนือกว่าความตกลงทริปส์หรือทริปส์ผนวกระบุไว้ในข้อตกลงด้วย เช่น กรณีความตกลงเอฟทีเอไทย-อียู ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการขยายสิทธิการผูกขาดทางการพาณิชย์ในยา และจะกระทบต่อราคายาและการเข้าถึงยาของประชาชนไทย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะไม่สามารถครอบคลุมการให้ยาดังกล่าวในชุดสิทธิประโยชน์ได้ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าหากเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้กับคู่เจรจา 1 ปี มูลค่าผลกระทบต่อราคายาสูงสุดจะอยู่ที่ 2,834.7 ล้านบาท, 2 ปี มูลค่าจะอยู่ที่ 6,552.5 ล้านบาท และหากยืดอายุสิทธิบัตรให้อียูถึง 10 ปี มูลค่าผลกระทบสูงสุดจะมากกว่า 2 แสนล้านบาท
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140

รูปภาพ