ผนึก ‘ธรรมนูญพื้นที่ - กองทุนตำบล' สู้โควิด19 และโรค NCDs | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   วงถก ‘New-Norm’ สร้างสุขภาพฯ เสนอบูรณาการ 2 เครื่องมือ “ธรรมนูญพื้นที่-กองทุนตำบล” สู้ภัยโควิด-ยับยั้ง NCDs ในชุมชน
 
   แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะรุนแรงในระดับประวัติศาสตร์ หากแต่อีกด้านก็นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้รณรงค์และปลูกฝังพฤติกรรมเชิงบวกเพื่อสร้าง “บรรทัดฐานใหม่” ในการดูแลสุขภาพให้เกิดขึ้นกับประชาชน
 
   โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสู้รบกับ “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” (NCDs : Non-Communicable Diseases) มหันตภัยด้านสุขภาพที่หยั่งรากลงลึกและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง
 
   เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้หารือในหัวข้อ “สร้าง New-Norm ควบคุมโควิด 19 สร้างเสริมสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันโรค NCDs” โดยกำหนดกรอบการทำงานไปที่ระดับชุมชน การพูดคุยครั้งนี้ เป็นการพูดคุยผ่าน Application ซึ่งเป็นไปเพื่อรักษาระยะห่างตามมาตรการ Social distancing
 
   ในฐานะผู้นำการประชุม ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เริ่มต้นด้วยการเกริ่นนำถึงทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข สร้างเสริมและป้องกันโรค ตลอดจนสร้างการตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ (Health Literacy)
 
   ในส่วนของ สช. มีเครื่องมือสำคัญคือ “ธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งเป็นกลไกการสร้างข้อตกลงร่วมกันในพื้นที่ที่เรียกว่า ธรรมนูญตำบล หรือ ธรรมนูญชุมชน หรือ ธรรมนูญพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันหลายชุมชนได้ใช้เป็นกรอบในการออกแนวปฏิบัติภายใต้สถานการณ์โควิด19 จึงนับเป็น “โอกาส” ที่ดี หากสองเครื่องมือนี้มาทำงานสนับสนุนกันและกัน
 
   “ถือเป็นโอกาสของพื้นที่ หากมีการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพของกองทุนสุขภาพตำบล ร่วมกับการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล เพราะขณะนี้กองทุนสุขภาพตำบลมีงบประมาณค้างท่ออยู่กว่า 3,600 ล้านบาททั่วประเทศ” ทพญ.ศิริวรรณ ระบุ
 
   ทพญ.ศิริวรรณ บอกอีกว่า ข้อเสนอเร่งด่วนจะเป็นการใช้เงินค้างท่อ 50% ในช่วงฟื้นฟูระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้าง New-Norm หรือบรรทัดฐานใหม่ควบคุมโควิด 19 และสร้างเสริมสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยง ป้องกันโรค NCDs เพราะหลายกิจกรรมที่รณรงค์ในช่วงโควิด19 ก็มีส่วนในการช่วยลดปัญหาโรค NCDs ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดสังสรรค์ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ รวมไปถึงเพิ่มการจ้างงานที่จะช่วยผู้คนได้ในภาวะนี้
 
   สำหรับแนวทางภายใต้ข้อเสนอ คือ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล เป็นแผนแม่บทการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และจัดทำแผนงบประมาณกองทุนผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหา เสริมหนุนกลไกสภาผู้นำชุมชน สร้างทักษะและบรรทัดฐานการปฏิบัติใหม่ในชุมชนให้มีระยะห่างระหว่างบุคคล และสร้างคุณลักษณะนิสัยที่หลีกเลี่ยงอาหารหรือพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรค NCDs
 
   นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานด้วยการจัดจ้างผู้ช่วยสร้างเสริมสุขภาพสำหรับทุกกองทุนเป็นเวลา 2 ปี ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทีมเลขานุการกองทุนตำบลในการขับเคลื่อนและร่างโครงการ โดยผู้ช่วยฯ จะเป็น change agent งานสุขภาพชุมชน ขณะที่ในระยะยาวจะเป็นการจัดระบบประสานการพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงภาคประชาชน จัดให้มีฐานข้อมูลเครือข่ายและข้อมูลสุขภาพในระดับตำบล ที่สามารถบันทึก สืบค้น และแลกเปลี่ยนกันได้
 
   ถัดจากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการแสดงความเห็นหลากหลาย โดยหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงคือการปรับกรอบวิธีคิดของเครื่องมือธรรมนูญ เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันถึงประโยชน์ที่สามารถตอบโจทย์งานของตนได้ พร้อมเห็นด้วยถึงการใช้ประโยชน์ของเงินค้างท่อ มาเชื่อมร้อยการทำงานในช่วงโควิด 19 เพื่อไปให้ไกลกว่าการรณรงค์เพิ่มระยะห่างทางสังคม หรือการใส่หน้ากากอนามัย เพราะสิ่งเหล่านี้จะอยู่เพียงชั่วคราว และจางหายไปกับสถานการณ์ของโรค
 
   “หลังจากนี้ เราจะเปลี่ยนมาตรฐานทางสังคมอย่างไร เช่น การดำรงชีวิตแบบสมถะ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการสูบ ดื่ม หรือการจัดงานต่างๆ ที่มีขนาดเล็กลงเพื่อลดการรวมตัว ซึ่งถ้าทำได้คนก็อาจชอบด้วยเพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งทำให้สังคมดีขึ้น ได้ใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้โรค NCDs ลดลงไปด้วย จึงอย่าไปหยุดเพียงการรณรงค์ใส่หน้ากากหรือล้างมือ แต่หาโอกาสทำให้ไปไกลกว่านั้น” เสียงสะท้อนจากที่ประชุมสรุปถึงภาพรวมของข้อเสนอ
 
   ด้าน ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า สช.เห็นด้วยในหลักการที่ทุกฝ่ายสนับสนุนการทำงานร่วมกัน โดยคำว่า “ธรรมนูญ” นั้นเป็นเพียงชื่อเรียกของกระบวนการมีส่วนร่วม การสร้างข้อตกลงร่วม ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าต้องใช้ชื่อธรรมนูญเท่านั้น แต่ให้เป็นหลักการของการร่วมคิดร่วมทำ และอาจปรับให้สอดคล้องกับกติกาหรือรูปแบบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินภารกิจได้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147