- 2586 views
สช. ปฏิบัติการสานพลังเครือข่ายร่วมกับพระสงฆ์ทั่วประเทศรับมือวิกฤตโควิด19ด้านพระสงฆ์ชูตัวอย่างกิจกรรมที่วัดมีบทบาทดูแลชุมชน
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)ร่วมกับมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย จัดเวที ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติกู้ภัยโควิด19 “ธรรมนูญสงฆ์ รวมพลังบวร สู้วิกฤตโควิด19”ถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติฯ วัดยานนาวา เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมาโดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคมและประธานกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ สัมโมทนียกถาเปิดการเสวนา
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกทรงมีพระดำริว่า“วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนคู่กับสังคมไทยมานับแต่โบราณ ตราบจนถึงวันนี้ วัดไม่เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระภิกษุสามเณร แต่ยังเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนด้วย จึงสมควรที่จะให้วัดที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะอนุเคราะห์ประชาชนผู้ประสบความยากลำบากดำเนินภารกิจตามบทบาทหน้าที่ที่ดำรงอยู่นับแต่อดีตกาล”โดยคณะสงฆ์ทั่วประเทศได้สนองพระดำริดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด19 โดยปฏิบัติตามมาตรการมติมหาเถรสมาคมและประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รวมทั้งพระสงฆ์ไทยในต่างประเทศก็ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากด้วยเช่นกัน
“การแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมเป็นอย่างมาก พระสงฆ์และประชาชนตระหนักในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น วัดมีการจัดระบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ประชาชนห่วงใยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งของชีวิตนอกเหนือจากการประกอบสัมมาชีพ”สมเด็จพระมหาธีราจารย์กล่าว
พระมงคลวชิรากรเลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมกล่าวถึงปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตว่า ปัจจุบันวัดทั่วประเทศโดยเฉพาะวัดที่มีศักยภาพได้เริ่มจัดตั้งโรงทานเพื่อช่วยเหลือชุมชนที่เขตวัดนั้นตั้งอยู่ คำว่า‘ธรรม’ กับ ‘ทาน’ จึงเกิดขึ้นพร้อมกัน ธรรมคือความเมตตาปรารถนาดี ทานคือการแบ่งปันกัน โดยพระสงฆ์ได้นำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์มาใช้ประกาศให้พื้นที่วัดเป็นพื้นที่ที่พระสงฆ์จะดูแลพระสงฆ์ด้วยกันเองตามธรรมวินัย ซึ่งพระต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันเกี่ยวกับการระบาด นอกจากนี้พระสงฆ์ยังให้ข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว โดยเฉพาะการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distance) แก่ประชาชนขณะที่ญาติโยมก็ดูแลพระสงฆ์ตามหลักธรรมวินัยด้วยเช่นกัน “โควิด19 คงจะมีต่อไปอีกระยะหนึ่งซึ่งยาวนานพอสมควร ถึงแม้ขณะนี้จะมีแนวโน้มลดลงก็ตามการขับเคลื่อนความร่วมมือด้วยพลังบวร(บ้าน-วัด-โรงเรียน)จะช่วยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาวได้”พระมงคลวชิรากรกล่าว
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าสิ่งที่น่ากลัวคือถ้าคนติดโควิดเพิ่มขึ้นเร็วเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ จะทำให้อัตราการตายสูง “โรคนี้จะอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง วัคซีนเป็นความหวังมาก แต่ต้องมีการทดลอง 3 ระยะ หนึ่งได้ผลในการทดลอง สองต้องทดลองเรื่องความปลอดภัย สามต้องฉีดคนจำนวนมากเพื่อพิสูจน์ว่าป้องกันได้จริงไหม ซึ่งกว่าจะได้วัคซีนใช้ก็คงปลายปีนี้ ระหว่างนี้จึงต้องควบคุมโรคไม่ให้อยู่ระดับสูงเกินไป”
สำหรับธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติที่กำลังขับเคลื่อน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์นี้ได้3 เรื่องหลักคือ 1.พระสงฆ์ต้องเข้าใจว่าโควิด19มีวิธีป้องกันอย่างไร 2.ญาติโยมที่ถวายอาหารสิ่งของต้องไม่เอาเชื้อไปแพร่ให้พระ ทุกขั้นตอนต้องสะอาด 3.พระเป็นเสาหลักของสังคม ช่วยให้ความรู้ อบรมแนวทางปฏิบัติให้ประชาชนได้ นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทั่วโลกต่างก็ใช้‘ยาแรง’หัวใจสำคัญคือประชาชนต้องเข้าใจและมีส่วนร่วมแต่หลังจากปัญหาการระบาดผ่อนคลายปัญหาทางสังคมและความตกต่ำทางเศรษฐกิจจะตามมายิ่งทำให้เราต้องจับมือสานพลังการทำงานทุกมิติ อีกทั้งประเทศไทยมีเครือข่ายประชาชน อสม.นับล้านคน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีหน้าที่ในการสานพลังเพื่อขับเคลื่อนนโยบายจึงชวนหน่วยงานต่างๆ ในระดับชาติด้านสุขภาพ สังคม การปกครองจับมือกับ12 องค์กรหลักคือ สช. สธ. สปสช. สสส. ผอช. สวรส. สรพ. สพฉ. เครือข่ายหมออนามัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง และไทยพีบีเอสบูรณาการภารกิจ งบประมาณและเครื่องมือไปสนับสนุนเครือข่ายในพื้นที่เข้ามากำหนดข้อตกลงร่วมกันเรียกว่า‘ธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19’ หลายพื้นที่ออกข้อตกลงกันว่าหากพื้นที่ตนเองมีกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในพื้นที่ก็จะทำการเฝ้าระวังกักกัน หรือออกมาตรการป้องกันให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังเด็กเล็ก ซึ่งหลายพื้นที่ออกมาตราการช่วยเหลือเยียวยาด้านอาหาร ด้านเศรษฐกิจด้วย
“ที่ผ่านมามีความร่วมมือของ 12 หน่วยงานแต่ยังไม่เพียงพอ ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากสมเด็จพระมหาธีราจารย์และคณะสงฆ์ที่เห็นความสำคัญของธรรมนูญพระสงฆ์ซึ่งมีทั้งหมวดที่ว่าด้วยพระจะดูแลตัวเองอย่างไรประชาชนจะดูแลพระอย่างไร และที่สำคัญพระจะช่วยเหลือดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไร ทั้งการให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และการช่วยนำประชาชนเดินหน้ารับมือกับปัญหาเศรษฐกิจต่อไปด้วย”
ในหลายพื้นที่เครือข่ายประชาชนในชุมชนจับมือกับพระสงฆ์ทำข้อตกลงร่วมกัน บางพื้นที่ขึ้นป้ายเลยว่าพวกเขาจะมีมาตรการและมีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน”เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวและย้ำด้วยว่าแม้สถานการณ์การระบาดจะดีขึ้นในอนาคตแต่สถานการณ์แทรกซ้อนด้านสังคมยังตามมา สช.จึงตั้งศูนย์ประสานปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19 (ศรค.) พร้อมนำเรื่องเล่าพลังชุมชนสู้ภัยโควิดที่เป็นตัวอย่างดีๆ ในการขับเคลื่อน ส่งให้ภาคีเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกด้วย
ขณะที่นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวว่างานหลักคือการสนับสนุนให้คำปรึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เข้มแข็งและสามารถจัดการพื้นที่สาธารณะได้ส่วนธรรมนูญพระสงฆ์ก่อนหน้านี้มีโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข รวมทั้งมีโครงการ 1 วัด 1 อบต. และในปี 2562 ขยายมาที่ศาสนาอื่นด้วยการเกิดของธรรมนูญพระสงฆ์จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ร่วมกันของทุกส่วน“พระถือเป็นต้นแบบที่ประชาชนนับถือ และวัดเป็นที่รับความสิ้นหวังหมดกำลังใจ อปท.มีหอกระจายข่าวทั่วประเทศอาจให้พระช่วยสร้างการรับรู้และทำให้ประชาชนมีสติได้ด้วย” กิตติพงษ์กล่าว
นายสาโรจน์ กาลศิริศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระและวัดเสนอต่อมหาเถรสมาคมผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการต่างๆ รวมทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับพระที่กลับจากแสวงบุญจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย ก็ต้องทำตามคำสั่งรัฐบาลเข้าสู่การกักตัว 14 วันขณะนี้มีพระสงฆ์ 226 รูปที่อยู่ระหว่างการกักตัวสำหรับโครงการโรงทานโดยพระดำริสมเด็จพระสังฆราชฯ นั้น ปัจจุบันมีวัดที่จัดโรงทานอยู่ 600 กว่าแห่งกระจายอยู่เกือบทุกจังหวัด ประชาชนที่ต้องการไปรับทานจากวัดสามารถติดตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด(พศจ.) หรือโท ร02-4417988-90 เพื่อสอบถามข้อมูล
วงเสวนายังได้เปิดให้พระสงฆ์ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีบทบาทมาร่วมแลกเปลี่ยน เช่น พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี จากสำนักปฏิบัติธรรมป่าโมกข์ธรรมาราม อ.อรัญประเทศ จ. สระแก้ว ยกตัวอย่างว่าสำนักปฏิบัติธรรมได้จัดตั้งเป็นศูนย์กักตัวเพื่อสังเกตอาการด้วยสิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบเพื่อให้ผ่อนคลายความหวาดกลัวผู้ที่ต้องกักตัว ในกรณีการดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนนั้น พระกฎษดา ขนฺติกโร จากวัดห้วยยอด จ.ตรัง ร่วมแลกเปลี่ยนว่า อสม.มีบทบาทสูงในการให้ความรู้และดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางด้วยมาตรการที่เข้มงวดขึ้นอีกทั้งวัดยังร่วมกับ อสม. สำรวจบ้านต่างๆ เพื่ออัพเดทข้อมูลผู้ป่วยและกลุ่มเกราะปางในชุมชน
สำหรับบทบาทของพระคิลานุปัฏฐากภายใต้การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนว่า มีการจัดเวทีทำความเข้าใจให้ความรู้ และเครื่องมือป้องกัน รวมทั้งลงพื้นที่ร่วมกับ รพ.สต. อสม. เพื่อให้ความรู้และให้กำลังใจกับประชาชน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพระคิลานุปัฏฐากจำนวน 6 พันกว่ารูปทั่วประเทศ พระครูโพธิวีรคุณ วัดโพธิการาม อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์กล่าวว่า พระมีการคุยกันเรื่องการจัดกองทุนศาสนสงเคราะห์ในแต่ละอำเภอเพื่อช่วยเหลือยามจำเป็น รวมทั้งทำวิดีโอเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเพื่อให้ความรู้ในการดูแลของพระด้วยกันเองและเทศน์ให้ประชาชนรับรู้ด้านพระสาธิต ธีรปัญโญ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมาภิวัฒน์ จ.ลำปาง กล่าวว่าปัญหาที่ตามมาคือปัญหาจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย ดังนั้น ช่วงนี้พระจึงควรมีบทบาทในการเข้าไปปลอบประโลมประชาชน ขณะนี้ทำผ่านเครือข่ายสถานีวิทยุคลื่นสีขาวเพื่อชาวประชา รวมทั้งผ่านทางเฟสบุ๊คไลฟ์ยูทูบ อีกด้วย ส่วนที่กำลังทำคือสายด่วนเพื่อเปิดให้ประชาชนโทรเข้ามาปรึกษาในเขตภาคเหนือ
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147