ตอนที่ 1 ‘รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง’ ล้มแชมป์สาเหตุการตาย 20 ปีซ้อน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   รู้สึกไหมว่าทุกวันนี้คนรอบข้างหรือคนที่รู้จักป่วยเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น ?
 
   หลายต่อหลายครั้งที่เราได้ยินข่าวคราวว่ามีเพื่อนพ้อง-ญาติพี่น้องป่วยเป็นมะเร็ง เปิดรับสื่อหรือมองไปทางไหนก็เจอแต่มะเร็ง และถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่มีใครอยากเป็น แต่มะเร็งก็ได้ขึ้นแท่นโรคยอดฮิตโรคหนึ่งของคนไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
   มะเร็งครองแชมป์ 20 ปีซ้อน ในฐานะสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย เพชฌฆาตรายนี้ปลิดชีพผู้ป่วยชาวไทยเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ศพ
 
   ยิ่งไปกว่านั้น มะเร็งยังนับเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อสุขภาพคนทั่วโลก โดยปี 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ทั่วโลกมีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 18 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตถึง 9.6 ล้านคน หรือเรียกได้ว่า“ครึ่ง-ครึ่ง” ซึ่ง WHO ประมาณการว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า คือในปี 2567 เป็นต้นไป โลกจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 20 ล้านราย
 
   แล้วอะไรที่ทำให้แนวโน้มของผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี ?
 
   นอกจากเรื่องของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” อีกเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูเบคอน แฮม การรับประทานประเภทเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ การได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม การมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน และการขาดการออกกำลังกาย
 
   จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ‘มะเร็ง’ ไม่ใช่เรื่องของเคราะห์กรรมหรือบาปบุญ หากแต่เป็นผลพวงของการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อม
 
   มะเร็งไม่ได้สร้างความทุกข์ให้กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อครอบครัว-คนใกล้ชิดที่ต้องดูแลผู้ป่วย ไปจนถึงผลกระทบระดับชาติในวงกว้าง นั่นเพราะค่าใช้จ่ายของการดูแลรักษามะเร็งสูงเกินรายได้เฉลี่ยของประชากรทั่วไปมากท้ายที่สุด จึงตกเป็นหน้าที่ของประเทศในการแบกรับภาระในส่วนนี้
 
   ข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วงระหว่างปี 2559-2561 พบว่า มีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวมกว่า 4 ล้านครั้ง ชดเชยค่ารักษาไปกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท และตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง
 
   ในระหว่างที่สถานการณ์โรคมะเร็งกำลังลุกลาม ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยประเทศไทยมีแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2540 พร้อมกับการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ จนในปี 2560 ได้มีการทบทวนและปรับปรุงแผนฉบับเดิมอีกครั้ง เพื่อให้เท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
 
   แผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ.2561-2565 ที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันปรับปรุงนั้น มียุทธศาสตร์รวม 7 ด้าน ตั้งแต่การตรวจหาโรคระยะเริ่มแรก ไปจนถึงการวิจัยเพื่อป้องกันและควบคุมโรค
 
   ด้วยการทำงานอย่างแข็งขันของทุกภาคส่วน ทำให้การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งของประเทศไทยทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือประเทศไทยยังคงขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร เครื่องมือ ยาเวชภัณฑ์
 
   อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นเรื่องท้าทาย คือการสร้างความตระหนักเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนการตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้ที่มีร่างกายปกติ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ
 
   โดยเฉพาะในยุคสังคมออนไลน์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิดๆ ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในชุมชน-ชนบทที่เข้าไม่ถึงข้อมูล และยังไม่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ
 
   พร้อมกันนี้ การดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหามะเร็งที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีภาครัฐเป็นเจ้าภาพหลัก แต่ด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงจำเป็นต้องสานพลังอีกหลายภาคส่วนเข้ามาสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาแบบบูรณาการ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ลงสู่ระดับชุมชน ซึ่งนับเป็นหัวใจหลักของการทำงาน เพราะเข้าถึงได้ในเชิงลึก
 
   ทั้งหมดนี้ นำมาสู่ความจำเป็นในการเสนอระเบียบวาระ “การรวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” เข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน พร้อมทั้งจัดวางผู้รับผิดชอบในชุมชน อันจะนำไปสู่การป้องกันและได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา