‘THAILAND BIG MOVE ROAD SAFETY’ เอาชนะภัยบนท้องถนนด้วย ‘พลังบวก’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ความสูญเสียบนท้องถนน นอกจากชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบเหตุแล้ว ยังจะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติอีกมหาศาล
 
   สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ประเมินตัวเลขเอาไว้สูงถึงปีละ 545,435 ล้านบาท นั่นคือค่าเสียโอกาสที่ประเทศไทยต้องจ่าย
 
   เป็นเวลานานทีเดียวที่หน่วยงานรัฐและภาคส่วนต่างๆ ได้ดำเนินมาตรการและแสวงหาแนวทางเพื่อเอาชนะอุบัติภัยบนท้องถนน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
 
   ในอดีตการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุมักเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง แต่เมื่อยังไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อช่วยหนุนเสริม นำมาสู่โครงการ ‘THAILAND BIG MOVE ROAD SAFETY’ ที่กำลังจะเปิดปฏิบัติการใหญ่ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ
 
   โครงการนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาจาก “ข้างล่าง” ในระดับพื้นที่
 
   หากพิจารณาจากยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุแล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ร้อยละ 74 ของผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศไทยเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และหากพิจารณาถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากกว่า 800 อำเภอทั่วประเทศแล้ว จะพบว่ามี 283 อำเภอ ที่สถานการณ์รุนแรง
 
   “หมวกกันน็อค” และ “283 อำเภอเสี่ยง” จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของโครงการ
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในเวทีปรึกษาหารือและทำสัญญาโครงการหนุนเสริมศักยภาพคนไทยเพื่อเอาชนะภัยท้องถนน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ที่ทุกฝ่ายต่างพยายามแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ทว่าจนถึงขณะนี้แนวโน้มของปัญหากลับใหญ่มากขึ้น
 
   อย่างไรก็ดี หากนำ “ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งประกอบด้วยความรู้-นโยบาย-ประชาสังคม เข้าไปวิเคราะห์ปัญหา จะพบว่าในส่วนขององค์ความรู้นั้นประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมาก ส่วนระดับนโยบายก็มีการทำงานอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ระดับชาติเรื่อยมาจนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 
   “ที่ยังดูอ่อนแอน่าจะเป็นภาคประชาสังคม โดยประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงยังมักจะเป็นเพียงแค่คนเกาะรั้วดู สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการก็คือการเปลี่ยนให้ผู้ชมมาเป็นผู้แสดง คือผู้ลงมือแก้ไขปัญหา” นพ.พลเดช ระบุ
 
   เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวอีกว่า จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับภาคสังคมอย่างแท้จริงด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นและจริงจัง ไม่ใช่เพียงพิธีกรรม แต่ต้องทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าใจเชื่อมใจ เห็นซึ่งกันและกัน และจับมือทำด้วยกัน
 
   “ต้องมีการกำหนดภารกิจร่วมกันและลงไปปฏิบัติการร่วมกัน ไปเอาชนะที่แนวหน้าด้วยกัน ใช้สติปัญญารวมหมู่เพื่อแก้ปัญหาตรงหน้าให้จงได้ เอาชนะทีละจุดๆ ทำจากจุดเล็กๆ แต่พร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ภาพใหญ่ก็จะเกิดขึ้นเอง”
 
   นพ.พลเดช ย้ำ ก่อนจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า การมีส่วนร่วมสามารถทำได้ด้วยวิธีการบ้านๆ เช่น คนในชุมชนย่อมรู้ดีที่สุดว่าชุมชนของตัวเองมีจุดเสี่ยงตรงไหนบ้าง ก็ให้พากันลุกขึ้นมาช่วยกันสำรวจจุดเสี่ยง สมมุติว่าในอำเภอของตัวเองมีทั้งสิ้น 150 จุดเสี่ยง ก็ให้ทำแผนที่ขึ้นมาเลย แล้วก็เดินทางไปชักชวนผู้บริหารท้องถิ่นคุยกันเพื่อแก้ไขกันทีละจุด ค่อยๆ ทำทีละเล็กละน้อย
 
   นั่นเป็นเพียงแค่หนึ่งในตัวอย่างที่ชุมชนทำได้ ซึ่งแน่นอนว่ายังมีอีกหลากหลายมาตรการที่สามารถกำหนดได้โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเอง
 
   “แนวทางการขับเคลื่อนจะใช้แนวทางทางบวก คือให้กำลังใจกัน เพราะเรื่องนี้เป็นงานที่ยาก มีโอกาสที่ทำสำเร็จได้ยาก ฉะนั้นเราจึงไม่ควรตำหนิกัน ไม่ควรตัดทอนกำลังใจกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เรามีเพื่อน ขับเคลื่อนด้วยความรัก แม้ปัญหาจะยังแก้ไม่ได้ แต่ยิ่งทำไปเพื่อนก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นการสะสมพลังงานของความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ” นพ.พลเดช ระบุ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา