ธรรมนูญระบบสุขภาพแห่งชาติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

การปฏิรูประบบสุขภาพให้เป็นไปในแนวทางที่เห็นพ้องต้องกันและมีเอกภาพนับว่าเป็นเจตนารมณ์และพันธะร่วมกันของสังคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การร่วมกันฝัน ร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้ ร่วมกันขับเคลื่อนและได้รับประโยชน์ร่วมกันล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขององคาพยพทางด้านสุขภาพบนเส้นทางเดินที่ยาวไกล และ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เป็นหนึ่งในสิ่งสร้างสรรค์ที่งอกงามอย่างมีคุณค่า ยิ่งถ้าหากสังคมช่วยกันนำไปขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่สุขภาวะได้อย่างมั่นคงนั่นแสดงว่าความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมนูญได้บังเกิดขึ้นจริง กระบวนการจัดทำอย่างเป็นระบบ ทำให้ทุกภาคส่วนมีความสำคัญและมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม จนได้สาระที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือ วิชาการผสมผสานคุณค่า ซึ่งเมื่อสื่อสารรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางทั่วถึงจึงทำให้ธรรมนูญกลายเป็นสาธารณสมบัติของสังคมไทย ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติได้ถูกเจียระไนความงดงามเพื่อให้เกิดพลานุภาพแห่งความชอบธรรมอีกระลอกใหญ่ จากเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๑-๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ สู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๑ ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ วุฒิสภารับทราบเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๒และสภาผู้แทนราษฎรได้ซักถามและรับทราบเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๒ จนในที่สุด “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีฐานะเป็นกฎหมายของแผ่นดินและเป็นธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยที่ถูกกำหนดให้มีภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติ สถานะของธรรมนูญมีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมตามอำนาจหน้าที่ของตนและติดตามผลมาเสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คราวต่อๆไป รวมทั้งเสนอต่อสาธารณะด้วย “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒” เป็นกรอบและแนวทางร่วมในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศเพื่อเป้าหมายปฏิรูประบบสุขภาพให้ตอบสนองสุขภาวะองค์รวมทั่วทั้งสังคมไทย เจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ดังกล่าวทำให้ธรรมนูญได้รับการออกแบบเพื่อให้นำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง คือ ใช้เป็นทั้งกรอบ( Framework) แนวทาง ( Guideline) หรือเป็นนโยบาย ( Policy) ยุทธศาสตร์ ( Strategy ) หรือเป็นฐานอ้างอิง ( Reference) หรือ การดำเนินงาน ( Implementation )และสามารถนำสาระแต่ละประเด็นไปใช้หรือใช้เป็นแม่แบบจัดทำธรรมนูญพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อหน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคซึ่งได้แก่ จังหวัด อำเภอ ตำบลหรือชุมชน รวมทั้งพื้นที่ อปท.ทุกระดับ ได้แก่ อบจ.,เทศบาล,อบต.,ชุมชน แม้แต่หน่วยงานองค์กรภาคเอกชนก็สามารถนำไปใช้ได้ เส้นทางแห่งสุขภาวะนับจากนี้ไปจะเป็นอลังการแห่งสายน้ำที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศรวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่หล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื่นแก่คนไทยทั้งแผ่นดิน ท่ามกลางหายนะภัยที่มากับโลกาภิวัฒน์ซึ่งถาโถมกระหน่ำทุกตรอกซอกซอยเฉกเช่นเดียวกัน

หมวดหมู่เนื้อหา