คืบหน้า! ‘ธรรมนูญฯ ระบบสุขภาพแห่งชาติ’ ฉ.3 พลิกฟื้นระบบสุขภาพหลังยุคโควิด สร้างความยั่งยืนบนหลัก ‘One Health’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

คืบหน้า! “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” สช. ยึดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-สร้างความเป็นธรรมให้ทุกคน หวังพลิกฟื้นระบบสุขภาพหลังสิ้นสุดยุคโควิด-19

คืบหน้า! ธรรมนูญฯ ระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉ.3


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการและยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 เพื่อหารือเพิ่มเติมถึงกรอบแนวคิด และการพิจารณาโครงสร้างการเขียนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียภาคส่วนต่างๆ โดยจะยกร่างแรกให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการและยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เปิดเผยว่า มีการวางเป้าหมายสูงสุดของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ที่เชื่อมโยงทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีปัจจัยของสุขภาพที่จะเป็นทั้งเงื่อนไขนำและผลลัพธ์จากการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้นิยามของสุขภาพตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่มองทั้งในมิติกาย จิต ปัญญา และสังคม
 

ศุภกิจ ศิริลักษณ์



นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้โครงสร้างของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ทั้งในส่วนของสถานการณ์ หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และระบบสุขภาพ รวมถึงเป้าหมายต่างๆ จึงเหลือเพียงเนื้อหาในหมวดย่อยที่จะต้องร่วมกันดู

“เราไม่อยากให้ธรรมนูญฯ ฉบับนี้มีเนื้อหามากเกินไป ไม่อยากให้เขียนทุกเรื่องใส่ทุกรายละเอียด แต่เราจะเลือกเนื้อหาที่เป็นประเด็นและหลักการสำคัญ คือธรรมนูญฯ จะเป็นร่มใหญ่ให้ทุกฝ่ายสามารถนำไปปฏิบัติได้ต่อ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี อนุกรรมการและเลขานุการฯ กล่าวว่า คณะทำงานยกร่างธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ได้มีการนำหลักการของ Pan-European Commission on Health and Sustainable Development จากสหภาพยุโรป ที่ได้ศึกษาบทเรียนหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่พบว่าหลังจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพที่เป็นหนึ่งเดียว หรือ One Health ซึ่งหมายถึงการมองที่ครอบคลุมทั้งสุขภาพของคน สัตว์ รวมถึงสภาวะแวดล้อมต่างๆ และกว้างไปถึงปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม หรือเศรษฐกิจด้วย
 

วีระศักดิ์ พุทธาศรี


“คณะทำงานเห็นว่าเป้าหมายภายในระยะ 5 ปี ของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ น่าจะพุ่งเป้าหมายไปที่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนระบบสุขภาพให้เป็นปกติ ภายใต้การมีธรรมาภิบาลของระบบสุขภาพที่ดี ซึ่งในการทำงานจะมองสองประเด็นหลัก คือการคำนึงถึงทุกปัจจัยต่างๆ ที่จะเข้ามามีผล ไม่ว่าสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็สร้างให้เกิด Health in all Policies หรือทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ผศ.วีระศักดิ์ ระบุ

ขณะเดียวกัน ธรรมนูญฯ ฉบับนี้ยังจะให้ความสำคัญในเรื่องของคน ที่จะต้องมุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะของทรัพยากรมนุษย์ และไม่เพียงความรอบรู้ด้านสุขภาพ แต่ยังต้องตระหนักไปถึงด้านดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้รับความสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมกับระบบสุขภาพ ด้วยการสนับสนุนและปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรี เช่นเดียวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

ผศ.วีระศักดิ์ ระบุอีกว่า บทบาทของธรรมนูญฯ ในทางปฏิบัติ นอกจากจะเป็นทิศทางในการกำหนดระบบสุขภาพแล้ว ยังน่าจะเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่ใช้ในการติดตามและรายงานผลที่มีประสิทธิผล โดยทำหน้าที่ในการสอดส่องนโยบายหรือกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของธรรมนูญฯ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า ที่จะชี้ให้เห็นถึงช่องว่างหรือข้อจำกัด เพื่อให้ปรับระบบสุขภาพได้ทันและสามารถขับเคลื่อน นำไปสู่ภาพพึงประสงค์ของระบบสุขภาพได้
 

Health in all Policies


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันวิเคราะห์ภาคียุทธศาสตร์ หรือหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่จะดึงเข้ามาร่วมในแต่ละกลุ่มประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค ข้อมูลสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การควบคุมโรค การเงินการคลัง การบริการสาธารณสุข รวมไปถึงกำลังคนด้านสุขภาพ เพื่อให้หน่วยงานทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาควิชาการ ตลอดจนภาคประชาสังคมและเอกชน ได้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
คืบหน้า! ‘ธรรมนูญฯ ระบบสุขภาพแห่งชาติ’ ฉ.3