‘เพชรบุรี’ ส่งเสียง อยากทำอะไร? ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   หลังจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับมอบหมายให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแผนระดับชาติกับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในด้านการสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมในการคิดกิจกรรมในพื้นที่
 
   ตลอดสิบปีที่ผ่านมา สช. ได้ทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในทุกจังหวัดผ่านเครื่องมือสำคัญอย่าง ‘สมัชชาสุขภาพ’ ซึ่งก็คือการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม มีศูนย์ประสานงานสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดกระจายอยู่ทุกจังหวัด และเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงการทำงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่มายาวนาน
 
   เพียงแต่คราวนี้ กลไกสมัชชาจะไม่ทำเพียงเรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่จะรับบทบาทเป็นตัวประสานและจัดเวทีระดมสมองขบคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีอยู่ 6 ด้าน
 
   ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
 
   “เวทีนโยบายสาธารณะ การสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ทยอยจัดขึ้นในทุกจังหวัดตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ รวมแล้วราว 95 เวที โดยแบ่งเป็นเวทีนโยบายสาธารณะระดับจังหวัด 77 จังหวัด เวทีนโยบายสาธารณะระดับเขตโดยคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) 13 เขต และเวทีนโยบายสาธารณะเครือข่ายเด็กและเยาวชนอีกจำนวนหนึ่ง
 
   ในการจัดเวทีจังหวัด เราใช้เนื้อหายุทธศาสตร์ชาติเป็นตัวตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่ายุทธศาสตร์ชาติมีกี่ด้าน แต่ละด้านมีประเด็นอะไร แล้วย้อนกลับไปที่ตัวเขา จังหวัดของเขา ว่าจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง ตรงไหนที่สอดคล้องกับความจำเป็นหรือความต้องการของพื้นที่ เป็นการเชื่อมระหว่างชาติกับพื้นที่เขาเอง” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว
 
   เพชรบุรี เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้จัดเวทีไปแล้ว ทีมงานสมัชชาจังหวัดซี่งทำงานในพื้นที่มายาวนานจนเกิดพื้นที่ตำบลนำร่อง 3 แห่งที่มีธรรมนูญระดับตำบลในเรื่องการจัดการขยะและการลด ละ เลิกใช้โฟม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดเวที โดยเชิญทั้งประชาชนกลุ่มต่างๆ ภาครัฐ ภาคเอกชน ในจังหวัดรวมแล้วราว 100 กว่าคนมาประชุม โดยช่วงเช้าเป็นกระบวนการทำความเข้าใจเนื้อหารายละเอียดยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ
 
   ต่อมาในช่วงบ่าย เป็นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติมายังจังหวัดเพชรบุรี โดยการตั้งคำถามสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็น ประกอบด้วย ก.ในอีก 20 ปีข้างหน้าอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร และ ข.ขณะเดียวกันภาพที่อยากเห็นของจังหวัดเพชรบุรีเป็นอย่างไร โดยคำตอบมีตั้งแต่เรื่องความปรองดอง สามัคคี ไปจนถึงเรื่องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ดูเหมือนผู้คนให้น้ำหนักอย่างมากคือเรื่องเศรษฐกิจ อาชีพ และปัญหาปากท้อง
 
   ตัวอย่างภาพอนาคตของคนเมืองเพชรฯ มีหลากหลาย เช่น มีความปลอดภัยในชีวิต ไม่มีโจรผู้ร้าย, มีเงินลงทุนสำหรับผู้เกษียณอายุทุกคน, มีโรงพยาบาลที่รองรับคนไข้อย่างเพียงพอและบริการเท่าเทียม, ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งจังหวัด, ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงวัฒนธรรม, เป็นจังหวัดที่น้ำไม่ท่วม, มีพื้นที่สาธารณะที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันเพิ่มมากขึ้น, มีกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในจังหวัด ไม่ว่าไทย จีน มุสลิม มอญ ลาวโย่ง ลาวพรวน กะเหรี่ยง, มีโรงงานแปรรูปขยะเป็นไฟฟ้า ฯลฯ
 
   ท้ายที่สุดที่ประชุมได้เห็นพ้องต้องกันที่จะผลักดันให้เกิดรูปธรรมสำหรับจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งนั่นก็คือ ท่องเที่ยวในเชิงเกษตรและธรรมชาติโดยชุมชน, หมู่บ้านสีขาว, เพชรบุรีสีเขียว
 
   อโณณิชา รุ่มรวย ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัด กล่าวว่า ข้อเสนอนี้นอกจากจะถูกรวบรวมไปยัง สช.เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลแล้ว ในการทำงานระดับจังหวัด คณะทำงานซึ่งทำงานร่วมกับจังหวัดอยู่แล้วก็จะนำเสนอกิจกรรมเหล่านี้เข้าไปในแผนพัฒนาจังหวัดด้วยอีกทางหนึ่ง
 
   ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวสรุปท้ายว่า “ข้อเสนอว่าด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากพื้นที่มีความสอดคล้องและสนับสนุนรูปธรรมการขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ชาติโดยภาคประชาชน ขั้นตอนต่อไป ทีมวิชาการ สช. จะรวบรวมข้อเสนอที่ได้จากทุกเวทีทั้งหมดเสนอเป็นภาพรวมของประเทศ โดยเชื่อมโยงกับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท เสนอรัฐบาลเพื่อขอรับการสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปที่ริเริ่มตามความต้องการจากระดับพื้นที่อย่างแท้จริง”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ