- 120 views
เวทีรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภาคกลางคึกคัก ทุกฝ่ายร่วมแสดงความเห็น สะท้อนอุปสรรคทางกฎหมายที่ใช้มาถึง ๑๕ ปี หนุนแยกเงินเดือนบุคลากรสาธาณสุข ออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว แต่ไม่เห็นด้วยเรื่อง ‘การร่วมจ่าย’ เชื่อทุกฝ่ายร่วมหาทางออก ทั้งผู้ให้บริการและภาคประชาชน จะส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบในอนาคต
เวทีรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... เวทีระดับภูมิภาคพื้นที่ภาคกลาง จัดโดย คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีภาคประชาชน อาทิ สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่, กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และภาควิชาการ เข้าร่วมงานทั้งลงทะเบียนล่วงหน้าและหน้างานกว่า ๙๐๐ คน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... กล่าวว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เปิดกว้างให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวิชาชีพ และประชาชนผู้สนใจ ร่วมแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีผลต่อประชาชนคนไทยทุกคนให้ได้รับบริการสุขภาพที่ดีขึ้นจากทางภาครัฐ และทำให้ระบบบริการสุขภาพทั่วถึง
“ทุกๆ ความคิดเห็นทั้งทางวาจา ลายลักษณ์อักษร และออนไลน์ ถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสำคัญมาก เราจะนำไปกลั่นกรองและเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มี ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานต่อไป เพื่อปรับปรุงให้กฎหมายฉบับนี้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด”
ทั้งนี้ ภาพรวมการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างเรียบร้อย ส่วนใหญ่เห็นความจำเป็นของการแก้ไขกฎหมายที่ใช้มาแล้วถึง ๑๕ ปี ทำให้มองเห็นอุปสรรค ปัญหา ทั้งในส่วนผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ จากสภาการพยาบาล กล่าวว่า การแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหาจะช่วยให้ประชาชนได้รับความมั่นคงทางสุขภาพ และเกิดความมั่นใจในการพัฒนาบริการต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยสนับสนุนการเพิ่มองค์ประกอบของสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุขในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะช่วยให้การทำหน้าที่ได้ดีกว่าเดิม
ขณะที่ นายปรีชา พุ่มพฤกษา ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแยกเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขออกมาจากค่าเหมาจ่ายรายหัว ถ้าทำได้สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการร่วมจ่าย ในกฎหมายฉบับนี้อีก และถ้างบประมาณไม่เพียงพอ ภาครัฐก็ควรนำงบประมาณจากหมวดอื่นๆ มาเสริม
นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ นักวิชาการ กล่าวว่า หลักสำคัญในการแก้กฎหมาย คือประชาชนเข้าถึงบริการโดยไม่มีอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ก็ต้องเห็นใจโรงพยาบาลผู้ให้บริการด้วยที่อาจเป็นทุกข์มากในช่วง ๑๐ ปี ซึ่งงบประมาณมีจำกัด ตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกา ใช้งบประมาณด้านสุขภาพ ๑๗% ยุโรป ๑๐% แต่ประเทศไทยใช้ ๕-๖% จึงมีโอกาสที่ประเทศไทยจะใช้งบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกล หรือขาดแคลนได้ประโยชน์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขให้การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์กระจายไปโรงพยาบาลต่างๆ เพราะเกรงว่าจะไม่มีประสิทธิภาพ
ด้าน นายพิสุทธิ์ อนุชาชาติ ภาคประชาชนจากกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยในเรื่องการร่วมจ่าย เพราะมีตัวอย่างเรื่องการฟอกไตกับโรงพยาบาลเอกชน ในช่วง ๗ ปี เสียค่าใช้จ่ายไป ๓ ล้านบาท หรือการผ่าเข่า ๒ ข้าง เสียเงิน ๕ แสนบาท แทบจะต้องนำบ้านไปจำนอง สุดท้ายทุกคนก็ต้องพึ่งพาบัตรทอง เนื่องจากรัฐไม่เคยควบคุมค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนเลย ดังนั้น ไม่ควรมีการร่วมจ่าย
ทั้งนี้ ในส่วนบรรยากาศด้านนอกห้องประชุม ได้มีการจัดเวทีคู่ขนานรวมถึงการแถลงข่าวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. โดยระบุว่า กระบวนการแก้กฎหมายนี้ยังไม่สมดุล ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น โดยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ. อาทิ การแก้ไขกฎหมายต้องยึดหลักการประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ โดยเป็นสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน, คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ โดยขอให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ, ขอให้มีการใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้กฎหมาย, การเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการในโครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงความกังวลต่อประเด็นการแยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ว่าอาจมีผลต่อการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรม เป็นต้น
อนึ่ง หลังจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง ๔ ภูมิภาคเสร็จสิ้นลงแล้ว ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ จะมีการจัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยเชิญหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น หารือ และพิจารณาความครบถ้วนของประเด็นที่เห็นด้วย/เห็นต่าง หลังจากนั้น จะมีการสรุปและรวบรวมความคิดเห็นที่เกิดขึ้นทั้งหมด เสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน รวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143