รับฟังความเห็น ร่าง พรบ. หลักประกันฯ เวทีภาคเหนือ ภาครัฐ-ประชาชนร่วมคึกคัก | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เมื่อวันที่ ๑๑ มิ.ย.๒๕๖๐ คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ.....จัดเวทีรับฟังความเห็นเป็นครั้งที่ ๒ ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีทุกภาคส่วนเข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนมาก โดยมีคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟังด้วย
 
   ศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....กล่าวว่าการ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้ในปัจจุบันต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะใช้มาแล้วกว่า ๑๕ ปี และโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ที่สำคัญหลายจุดไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงิน จึงต้องแก้ไขให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยนำร่างมาเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางมากกว่ากฎหมายหลายฉบับ เพราะทราบดีว่าเป็นกฎหมายที่กระทบกับประชาชนจำนวนมาก เพื่อนำความเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไขร่างต่อไป โดยมีขั้นตอนในการพิจารณาประกอบด้วย ๑.มีคณะกรรมการยกร่างกฎหมายที่มาจากทุกภาคส่วน ซึ่งมีการหารือและถกเถียงมาอย่างต่อเนื่องกว่า ๓ เดือน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในหลายๆประเด็น ๒.นำร่างเบื้องต้นนั้นมารับฟังความคิดเห็น ๓.ให้ประชาชนแสดงความเห็นผ่านทางออนไลน์ เวทีประชาพิจารณ์ ๔ ภาค และเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ ซึ่งรายงานสรุปจะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนก.ค.๒๕๖๐
 
   สำหรับความเห็นและข้อเสนอจากเวทีประชาพิจารณ์ จะถูกรวบรวมและประมวลภาพเพื่อแยกแยะประเด็นข้อกังวลห่วงใยทั้งหมด และพิจารณาว่า พ.ร.บ. ฉบับใหม่ที่ยกร่างมานั้นมีปัญหาและอุปสรรคใด เพื่อนำไปสู่การปรับแก้ให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุขในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อนำเข้า ครม. นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนอื่นๆ ได้แก่ การพิจารณากฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
 
   “ยืนยันว่า พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฉบับใหม่ไม่ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ มีแต่จะได้สิทธิเพิ่ม และยังทำให้มีความคล่องตัวและชัดเจนในการบริหารจัดการเงินและระบบหลักประกันสุขภาพ โดยทุกข้อห่วงใยจากประชาชนจะไม่ตกหายไปไหนแน่นอนแต่จะถูกนำไปประมวลผลและพิจารณาทั้งหมด ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตามแต่จะรับฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งการที่คณะกรรมการยกร่างฯ มารับฟังประชาพิจารณ์ในเวทีต่างๆ ด้วยตัวเอง ก็เพื่อนำไปหารือต่อแสดงถึงความจริงใจที่จะทำให้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฉบับใหม่เป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะหลักประกันสุขภาพของไทยพัฒนามาไกลจนได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กล่าวว่าในการจัดเวทีประชาพิจารณ์ที่ ๒ ที่จังหวัดเชียงใหม่นี้ มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก โดยมีการศึกษาข้อกฎหมายมาอย่างดี นำเสนอความเห็นได้ตรงประเด็นครบถ้วน แม้ตัวแทนจากเครือข่ายหลักประกันสุขภาพจะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้กฏหมายและวอล์กเอ้าท์ออกจากห้องประชุมประชาพิจารณ์เหมือนที่จังหวัดสงขลา แต่ก็ได้มีต้วแทนนำเสนอความเห็นทั้งในเวทีและเป็นเอกสารจำนวนมาก
 
   “ความคิดเห็นของทุกคนจะถูกนำไปพิจารณาอย่างแน่นอน เพราะการรับฟังความเห็น ๔ ภาคครั้งนี้ทำขึ้นอย่างจริงจังไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในฐานะคนกลางได้รับมอบหมายให้จัดรับฟังความเห็น“
 
   นพ.พลเดช กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เล่น ๔ ภาคส่วนในสนาม ทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ สปสช.และหน่วยควบคุมการใช้จ่ายเงิน อย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลัง ความเห็นต่างๆ ของทุกคนอยู่ในสายตาประชาชนทั้งหมด
 
   สำหรับกรณีที่ภาคประชาชนเห็นว่ามีรับฟังความเห็นไม่ทั่วถึงนั้น นพ.พลเดช กล่าวว่าร่างพ.ร.บ. นี้เกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน เราพยายามหาช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนได้เข้าถึงเพื่อแสดงความเห็นให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันช่องทางออนไลน์ถือว่าเป็นช่องทางง่ายที่สุดที่จะเข้าถึงข้อมูลแล้ว โดยจะมีการเปิดรับฟังความเห็นทางออนไลน์จนถึงวันที่ ๑๘ มิ.ย.นี้ ต้องย้ำว่าประชาชนต้องเห็นว่าความเห็นของเรามีคุณค่า และต้องแสดงออกมาอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งการพยายามแสดงความเห็นทางออนไลน์ด้วยตัวเองจะทำให้เรายกระดับคุณภาพไปอีกขั้นหนึ่ง
 
   ในเวทีรับฟังความเห็นต่อไปที่จังหวัดขอนแก่นและกรุงเทพนั้น เชื่อว่าประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่จะศึกษากฎหมายมาอย่างดี และแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางมากขึ้น
 
   ส่วนการวอล์กเอ้าท์ของกลุ่มเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคเหนือนั้น ถือเป็นการแสดงสัญลักษณ์ แต่จะเห็นได้ว่าไม่มีความรุนแรงและใช้คำหยาบในการแสดงความเห็นเลย จึงไม่หนักใจในการรับฟังความเห็นครั้งนี้ ตราบใดที่อยู่ในกฎกติกา และสันติวิธี
 
   ทั้งนี้ ในเวทีรับฟังความเห็นที่จังหวัดเชียงใหม่มีประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมจำนวนมาก โดยมีทั้งผู้เห็นด้วยให้มีกฎหมายหลักประกันฉบับใหม่ และมีข้อเสนอแนะต่อการร่างกฎหมายใหม่เพิ่มเติม รวมถึงมีกลุ่มคัดค้านจากเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคเหนือเข้าร่วมก่อนจะมีการวอล์กเอ้าท์ออกไปในเวลา ๑๑.๐๐ น. โดยยืนยันจุดยืนเช่นเดียวกับเครือข่ายฯ ภาคใต้ในการให้ล้มการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ และให้มีการยกร่างใหม่โดยมีภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น
 
   นายวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันฯ ฉบับนี้เน้นการบริการสาธารณสุขโดยหมอและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากกว่าการบริการสุขภาพ ที่มุ่งเน้นสุขภาวะที่มีหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เท่ากับไม่ได้เปิดกว้างไปถึงงานป้องกัน และปิดกั้นการที่องค์กรหรือเครือข่ายต่างๆ จะเข้ามาร่วมทำงานส่งเสริมป้องกัน ส่งผลให้ไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนสุขภาพตำบลได้
 
   นอกจากนี้การที่กลุ่มเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.หลักประกันฯ ก็เพราะมีหลายกระบวนการที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ตั้งแต่การยกร่างที่มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมเพียง ๒ คน และการรับฟังความเห็นทางออนไลน์ก็ไม่สามารถรับฟังได้อย่างทั่วถึง เพราะคนจำนวนมากไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่พื้นที่กว่า ๙๐% เป็นภูเขาที่ไม่มีความสะดวกในเรื่องอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ก็มีจำนวนมากที่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้คล่องตัวกลุ่มคนเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มคนพิการและคนแก่ที่มีหลายล้านคนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง
 
    “ตอนนี้ประชาชนตื่นรู้และตั้งหลักได้แล้ว ดังนั้นจะมีกระแสการตื่นตัวในการออกกฎหมายต่างๆของรัฐมากขึ้น เป็นจุดเปลี่ยนในการจัดการตัวเองของภาคประชาชน เราควรใช้โอกาสนี้ในการดึงภาคประชาชนที่มีการรวมตัวกันอย่างกว้างขวาง เช่น เครือข่ายหลักประกันสุขภาพเพื่อดึงเข้ามาให้อยู่ในระบบ เช่น เป็นสภาผู้รับบริการ ให้มีภารกิจในการให้คำแนะนำและเสนอแนะต่อกฎหมายหลักประกันสุขภาพมากกว่าที่จะใช้กลไกคณะกรรมการยกร่างฯ”
 
   นพ.สุรชัย โชคครรชิตไชย จากโรงพยาบาลอุทัยธานี กล่าวแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในมาตรา ๔๖ วรรค ๒ ที่ต้องแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้การจัดบริการดีขึ้น ส่วนการรับจ่ายเงิน กฎหมายฉบับใหม่จะชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการรับจ่ายเงิน จากปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่า สปสช. มีข้อจำกัดทางกฎหมายอยู่ในการจ่ายเงินโดยตรงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์จากการให้บริการแต่ละครั้ง ทำให้เกิดความขัดแย้งในโรงพยาบาล รวมถึงการจัดซื้อยา ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีกฎระเบียบรองรับ อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ต้องแยกบทบาทของผู้จัดบริการและผู้ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขออกจากกันให้ชัดเจน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ
เอกสารแนบ