เปิดเวทีระดมสมองทั่วประเทศ สช. เชื่อมต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ กับพื้นที่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
 
   คือเป้าหมายที่เราจะเดินไปให้ถึงภายในเวลา 20 ปีนับจากนี้ วิสัยทัศน์ดังกล่าวปรากฏใน ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ (พ.ศ.2561-2580) มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งก่อเกิดขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด
 
   เหตุผลการจัดทำที่ปรากฏในคำนำของยุทธศาสตร์ชาติ หากสรุปอย่างรวบรัดก็คือ ในสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดูเหมือนไทยจะวิ่งให้ทันได้ลำบากหากไม่กำหนดแผนพัฒนาให้ต่อเนื่องเพียงพอ ดังเช่นที่ประเทศอื่นๆ ทำ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม
 
   ดูง่ายๆ จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ เมื่อเทียบกับร้อยละ 6.0 ต่อปีในช่วงเกือบ 6 ทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังไม่นับรวมสถานการณ์ที่ไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 ซึ่งหมายความว่ามีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 20% ของประชากรทั้งหมด
 
   ขณะเดียวกันช่องว่างความเหลื่อมล้ำในประเทศเราก็สูงติดอันดับต้นของโลก ซึ่ง ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยสรุปไว้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินของประเทศไทยระหว่างครัวเรือนกลุ่มยากจนที่สุด 10% แรก กับ ครัวเรือนกลุ่มรวยที่สุด 10% ท้าย มีความต่างกันถึง 375 เท่า ฯลฯ
 
   ในทางรายละเอียดเนื้อหา ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดแนวทางและเป้าหมายของการพัฒนาไว้กว้างๆ ใน 6 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
 
   ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญ หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ก็ได้กําหนดให้ดําเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อรับผิดชอบจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศที่สอดคล้องไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ จํานวน 11 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง, ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน, ด้านกฎหมาย, ด้านกระบวนการยุติธรรม, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ, ด้านสังคม, ด้านพลังงาน, ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
 
   กระนั้นก็ตาม ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านและแผนปฏิรูปประเทศ 11 เรื่องก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายชนิดที่ไม่ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ โจทย์สำคัญต่อจากนี้คือ การแปลงสิ่งเหล่านี้ไปสู่ปฏิบัติการ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ทุกฝ่ายและประชาชนต้องรับรู้และสร้างช่องทางการมีส่วนร่วม แล้วรวมศักยภาพที่กระจัดกระจายนั้นเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน เป็นภารกิจที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับมอบหมายดำเนินการ
 
   “สถานการณ์ตอนนี้ คนที่รู้และเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์ชาติหลักๆ เป็นหน่วยงานภาครัฐ แล้วภาคประชาชนจะมีบทบาทยังไง เป็นโจทย์ใหญ่ รัฐบาลเห็นว่า สช. มีกลไกและทำงานกับเครือข่ายทุกจังหวัดอยู่แล้ว เลยอยากให้ช่วยจัดเวทีในการสร้างความรับรู้และมีส่วนร่วม”
 
   ในการจัดเวทีจังหวัด เราก็ต้องใช้ตัวยุทธศาสตร์ชาติเป็นตัวตั้งเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามีกี่ด้าน แต่ละด้านมีประเด็นอะไร แล้วย้อนกลับไปที่ตัวเขา จังหวัดของเขาว่าจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง ตรงไหนที่สอดคล้องกับความจำเป็นหรือความต้องการของพื้นที่ เป็นการเชื่อมระหว่างชาติกับความต้องการของพื้นที่เขาเอง”
 
   เป็นคำกล่าวของ ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมา สช. ได้มีการทำงานขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนมายาวนานนับสิบปี จนสามารถสร้างสมัชชาสุขภาพระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่ รวมถึงความร่วมมือของเครือข่ายในการผลักดันประเด็นสารพันที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอยู่แล้ว ดังนั้น ภายใต้ความต้องการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านเวทีระดมความคิดจำนวน 96 เวทีจึงถูกจัดขึ้นในช่วงต้นปีนี้โดยแกนนำสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ
 
   “เวทีนี้จะเป็นพื้นที่ในการพูดคุย หารือ ทำความเข้าใจ จากนั้นก็จะร่วมกันเสนอกิจกรรมที่เป็นความต้องการแต่ละจังหวัดประมาณสัก 3 เรื่อง เมื่อได้ข้อเสนอจากเวทีทั้งหมด ทาง สช. จะรวบรวม จัดกลุ่ม จัดหมวด เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอในภาพรวมของทั้งประเทศว่าแต่ละพื้นที่อยากทำสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านใด”
 
   ซึ่งนั่นต้องไม่ใช่เพียงแค่การเสนอความต้องการ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติอธิบายต่ออีกว่า หากรัฐบาลตอบรับกับข้อเสนอดังกล่าว ประชาชนผู้เสนอพร้อมจะเป็นผู้ปฏิบัติการและขับเคลื่อนกลไลสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาตินี้เองด้วย
 
   “โดยปกติหน่วยราชการจะเป็นผู้ของบประมาณตามแผนงานแล้วผ่านมายังจังหวัด แต่ครั้งนี้จะเริ่มโดยให้ประชาชนคิดก่อนว่าจะทำอะไรทาง สช. เราเพียงจัดหมวดหมู่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปภาคประชาชน ในภาพรวมมันสื่อไปถึงความเป็น active citizen ภาคประชาชนก็สามารถร่วมปฏิรูปประเทศได้ ทำยุทธศาสตร์ชาติให้สำเร็จได้” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ ระบุ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ