- 10 views
“มหกรรมสานพลัง สร้างสุข โฮมสุขอีสาน” สุดคึกคัก ประชาชน-ภาคีเครือข่ายสุขภาวะจาก 4 เขตสุขภาพเพื่อประชาชน 20 จังหวัด กว่า 1,000 ชีวิต ร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วางแนวทางการขับเคลื่อน 4 วาระร้อน “อาหารปลอดภัย-ขยะ-ผู้สูงอายุ-สุขภาพพระสงฆ์” ด้าน รมต.ประจำสำนักนายกฯ ระบุ ภารกิจ กขป.สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลพร้อมสนับสนุน “สมัชชาสุขภาพ-ธรรมนูญสุขภาพ” ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 7, 8, 9 และ 10 โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมสานพลัง สร้างสุข โฮมสุขอีสาน” ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดขอนแก่น ท่ามกลางความสนใจของผู้ที่เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
ภายในงาน ภาคีเครือข่ายสุขภาวะจาก 4 เขตพื้นที่ รวม 20 จังหวัดในภาคอีสาน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการทำงานเพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนใน 4 ประเด็นสำคัญในปี 2561 ประกอบด้วย 1.การจัดการระบบอาหารปลอดภัย 2.การจัดการขยะ 3.การสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุ 4.การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวคิดและทิศทางสานพลังสร้างสุขภาวะ” ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้ระบบสุขภาพมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยภาครัฐหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจัดตั้งเป็นภาคีเครือข่ายสานพลังในการแก้ไขปัญหาจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพทั้งมิติของกายและใจมาโดยตลอด นำมาสู่การประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.2559 เกิดเป็นคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) 13 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา กขป. ได้ขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในงาน มหกรรมสานพลัง สร้างสุข “โฮมสุขอีสาน” ที่ กขป. 4 เขตพื้นที่ สามารถสรุปประเด็นปัญหาจากความต้องการของคนในพื้นที่ออกมาเป็น 4 ประเด็น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศ
นายสุวพันธุ์ กล่าวอีกว่า งานด้านสุขภาวะเป็นสิ่งที่สำคัญกับคนทุกคน ซึ่งจำเป็นต้องมี 4 องค์ประกอบสำคัญเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ 1.รัฐบาลต้องมีความเข้าใจและให้การสนับสนุน 2.ภาคีเครือข่ายที่ต้องเข้มแข็งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน 3.องค์กรในระดับพื้นที่ต้องช่วยขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ กขป.ที่เป็นกลไกสำคัญ 4.จิตอาสาที่ต้องเข้ามาช่วยกันและสร้างให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกัน
“รัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนงานด้านสุขภาวะ งานด้านการดูแลสุขภาพ รัฐบาลจะขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพทั่วประเทศ รัฐบาลจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนตั้งแต่ในระดับภาค ระดับจังหวัด ลงไปถึงระดับอำเภอ และตำบล ถ้าเราบูรณาการในลักษณะนี้ มีพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพ ก็จะยิ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น” นายสุวพันธุ์ กล่าว
ภายในงาน มีการเสวนาหัวข้อ “กขป.ในอนาคต” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เขตสุขภาพเพื่อประชาชนเป็นกลไกที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่บูรณาการภารกิจของทุกกระทรวงที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับสุขภาวะให้เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยทั้ง 13 เขตสุขภาพฯ จะมี กขป. เขตละ 45 คน เป็นกำลังสำคัญหนุนเสริมเติมเต็มการทำงานของหน่วยงานหลักให้มีประสิทธิภาพ และเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานในการทำงานอย่างสอดประสานเพื่อที่จะบรรลุภารกิจของแต่ละพื้นที่ด้วย
“บทบาทหลักของ กขป. คือการสานพลัง บูรณาการ สร้างให้งานเกิดขึ้นได้โดยไม่ลงไปทำเอง แต่ต้องช่วยให้เพื่อนทำงานได้ดีขึ้น ฉะนั้นแต่ละเขตพื้นที่ต้องร่วมกันกำหนดประเด็นร่วม ก่อนที่แต่ละภาคีเครือข่ายจะแยกย้ายกลับไปขับเคลื่อนตามแผนงานและประมาณของตนเอง โดยมี กขป. เป็นส่วนหนุนเสริม” นพ.พลเดช กล่าว
ดร.นพ.อิทธิพล สูงแข็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 กล่าวว่า กขป. เป็นส่วนหนุนเสริมการทำงานของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะ สธ. ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่า สธ. หน่วยงานเดียวคงไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะปัจจัยที่กำหนดสุขภาพของประชาชนนั้น สธ. มีส่วนช่วยดูแลแค่ 20% ส่วนอีก 80% ขึ้นอยู่กับมิติทางสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมส่วนบุคคล ฯลฯ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ การบูรณาการในลักษณะประชารัฐเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งกลไก กขป. ตอบโจทย์การทำงานเรื่องนี้โดยตรง
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า การทำงานในระดับพื้นที่ที่ผ่านมามักจะยึดตามโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานรัฐ และเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ เนื่องจากแต่ละองค์กรมีข้อจำกัดจากนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด การเกิดขึ้นของ กขป. จึงเข้ามาหนุนเสริมและช่วยให้เกิดการปะทะสังสรรค์กัน โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นแต่ก็นับว่าสามารถแสวงหาประเด็นร่วมกันได้แล้ว ฉะนั้นโจทย์คือแต่ละหน่วยงานจะเอาประเด็นร่วมที่ได้จาก กขป.กลับไปขับเคลื่อนภายใต้บทบาทของตัวเองได้อย่างไร
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การทำงานของ สสส. มีหน้าที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ผลักดันนโยบายที่จำเป็นกับการสร้างเสริมสุขภาพ 2.สร้างพื้นที่รูปธรรม พื้นที่ต้นแบบ หรือศูนย์เรียนรู้ เพื่อสนับสนุนการผลักดันนโยบาย 3.งานด้านการรณรงค์ และ สสส.ก็อยู่ในกลไก กขป. ดังนั้น กขป.ควรใช้ประโยชน์จากบทบาทหน้าที่ของ สสส. ตัวอย่างเช่น ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า กขป.อาจจะร่วมกับ สสส. ผนึกประเด็นเพื่อจัดสร้างพื้นที่ต้นแบบหรือพื้นที่รูปธรรมให้เกิดขึ้น
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143