- 69 views
“นพ.ประทีป” นำเสนอทิศทางการทำงาน สช. หลังผ่าน 15 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ มุ่งเดินหน้าชักชวนภาคีร่วมขับเคลื่อน “ประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ” ภายใต้กระบวนการนโยบายสาธารณะ พัฒนาระบบสุขภาพตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ทั้งไทยและในระดับโลก ผ่านเครื่องมือกลไกสานพลังทั้งสมัชชาสุขภาพ-ธรรมนูญสุขภาพ-กขป.-HIA พร้อมยกระดับแนวคิด “HiAP”
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยในการนำเสนอ “ครึ่งทศวรรษที่สอง กับภารกิจขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ของ สช.” ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายภายในงาน 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 ระบุว่า นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้ถูกสะท้อนภาพให้เห็นชัดเจนว่าตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและหุ้นส่วนการพัฒนาทุกหน่วยงาน ได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมกันขับเคลื่อนการทำงาน จนทำให้เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ และผลงานที่เป็นรูปธรรมไปแล้วมากมาย
ทั้งนี้ บทบาทของ สช. ในการขับเคลื่อนงานช่วงครึ่งทศวรรษที่สอง ระยะ 5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ จะอยู่ภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง สภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และโรคอุบัติใหม่ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ควบคู่กับปัจจัยของโครงสร้างประชากรสังคมสูงวัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การขยายตัวของเมือง รวมถึงการให้ความสำคัญของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนพฤติกรรมสุขภาพและบทบาทของคนรุ่นต่อไป (Next Generation)
นพ.ประทีป กล่าวว่า โดยสรุปแล้วภาพใหญ่การทำงานของ สช. จะแบ่งไปด้วย 2 แขน ประกอบด้วย แขนซ้าย คือการยังคงทำหน้าที่สนับสนุนและสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมทั้งการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเป็นภารกิจพื้นฐานของ สช. ในขณะที่ แขนขวา จะเป็นการชักชวนภาคีเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนในประเด็นสำคัญของประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะ ภายใต้บทบาทตามภารกิจของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ที่สามารถเชื่อมโยงหน่วยงานยุทธศาสตร์ต่างๆ เข้ามาร่วมกันในการเคลื่อน
“ปัจจุบัน สช. กำลังเดินหน้าเข้าสู่การทำงานในแผนงานหลักฯ ฉบับที่ 4 ปี 2566-2570 ที่เราจะต้องทำงานภายใต้วิกฤตของประเทศทั้งเก่าและใหม่ ด้วยภารกิจเดิมคือการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทยด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา แต่จะสอดคล้องกับเป้าหมายของ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 คือการสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งเน้นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ จับต้องได้ สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่สำคัญของประเทศ ทั้งในระดับชาติและพื้นที่” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า เป้าหมายและทิศทางในระยะ 5 ปีของ สช. นอกจากจะเน้นการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศแล้ว ยังจะสนับสนุนให้เกิดกลไกและการใช้เครื่องมือต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการสานพลังเครือข่ายระดับพื้นที่เชื่อมกับส่วนกลาง ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกมองเป็นยักษ์ไม่มีกระบอง แต่หลังจากนี้จะมีการปรับตัว พัฒนาบทบาทที่เหมาะสม เพื่อสานพลังเครือข่ายพื้นที่ในระดับจังหวัดได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังมีเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ที่ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวทางฯ ฉบับที่ 3 เมื่อปี 2564 เพื่อให้ HIA มีผลในเชิงปฏิบัติมากขึ้น รวมไปถึงกลไกอื่นๆ ทั้งกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ สิทธิสุขภาพตามมาตรา 12 ตลอดจนแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP) ที่จะถูกผลักดันต่อในทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลางไปถึงระดับพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะเข้ามาสานพลังร่วมกันหน่วยงานยุทธศาสตร์ส่วนกลางมากขึ้น
“เมื่อเราเดินหน้าได้ตามนี้ ภายใน 5 ปี เราจะได้เห็นภาพที่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ วิชาการ โดยเฉพาะภาคเอกชน ภาคการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือคนรุ่นต่อไป เข้ามาร่วมกันมีบทบาทในการพัฒนานโยบายสาธารณะมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนกลุ่มเฉพาะและเปราะบางก็จะได้รับการเข้าถึงระบบสุขภาพอย่างเท่าเทียม และมีระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการพลิกฟื้นประเทศ” นพ.ประทีป กล่าว
ด้าน ดร.จอมขวัญ โยธาสมุทร สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า จากการประเมินการนำแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP) มาใช้ในการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย พบว่า HiAP ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการประกาศใช้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ด้วยกลไกสำคัญ 3 ประการ คือ การปรับเปลี่ยนนิยามสุขภาพใหม่ การมีส่วนร่วมของสาธารณะ และความร่วมมือแบบข้ามภาคส่วน โดยที่มี สช. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อน HiAP ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีช่องว่างที่สำคัญคือ การตีความเป้าหมายของแนวคิด HiAP ที่มักได้รับการพูดถึงและให้ความสำคัญอยู่ในวงการสุขภาพ ที่พยายามขับเคลื่อนให้ภาคส่วนอื่นๆ หันมาสนใจมากยิ่งขึ้น แต่การนำไปใช้แบบที่มองสุขภาพเป็นศูนย์กลาง ได้ทำให้ละเลยมิติอื่นๆ ดังนั้นจึงควรปรับให้เป็นไปในลักษณะของการส่งเสริมให้มี “สุขภาพเพื่อทุกนโยบาย” (health for all policies) ที่รับเอานโยบายภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อให้ภาคส่วนสุขภาพและภาคส่วนอื่นๆ สามารถสร้างและได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ได้จำกัดว่าประโยชน์นั้นต้องเป็นเพียงแค่เรื่องสุขภาพ
“ฉะนั้นการพัฒนาและขับเคลื่อนแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ ต้องไม่จำกัดอยู่ที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ หรือการปฏิบัติการของเครื่องมือและกลไกใดในภาคส่วนสุขภาพเป็นการเฉพาะ แต่ต้องสนใจภาพรวมของการพัฒนานโยบายสุขภาพที่สัมพันธ์กับนโยบายด้านอื่นๆ อย่างเป็นระบบ และควรพัฒนากลไกหรือเครื่องมือส่งเสริมประโยชน์ร่วม (co-benefits) ที่ไม่ใช่แค่ประโยชน์ทางสุขภาพ แต่เป็นประโยชน์ที่สามารถแบ่งปันกันได้ และอาจทำให้ผู้แทนภาครัฐที่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสร้างพันธะสัญญา (commitment) ทางนโยบายมาเข้าร่วมมากยิ่งขึ้นได้” ดร.จอมขวัญ กล่าว