15 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550” ถอดบทเรียนกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด 4 ภาค | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

วงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “15 ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550” ถอดบทเรียนกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด 4 ภาค ผู้แทนภาคีเครือข่ายการันตี “การมีส่วนร่วม” ช่วยรวมคน-รวมพลัง-รวมเป้าหมาย สามารถคลี่คลายปัญหาที่ซับซ้อนในพื้นที่ได้จริง
 

สมัชชาสุขภาพ 4 ภาค


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “หลากหลายประสบการณ์จากกระบวนการ สมัชชาสุขภาพจังหวัด” ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งภายในงาน 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 โดยสาระสำคัญคือการถอดบทเรียนการใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาหลอมรวมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

นายรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนใต้ในช่วงปี 2547 รุนแรงมาก ขณะนั้นเกิดกลุ่มการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาขึ้นแต่ยังเป็นการทำงานที่แยกส่วนกัน จนกระทั่งปี 2551 สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง องค์กรต่างๆ จึงเริ่มประสานความร่วมมือกันมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด
 

รอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล


ทั้งนี้ ประมาณปี 2556 ภาคีเครือข่ายจังหวัดชายแดนใต้ทุกภาคส่วนที่ทำงานร่วมกันเห็นพ้องต้องกันว่า จะเปลี่ยนโจทย์จากสมัชชาสุขภาพ เป็น “สมัชชาสันติภาพชายแดนใต้” แทน เพื่อสอดรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยยังใช้กลไกและหัวใจของสมัชชาสุขภาพฯ นั่นคือกระบวนการการมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญาและวิชาการ

“กระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ ส่งผลต่อชายแดนใต้หลายเรื่อง ทั้งการทำให้ภาคประชาสังคมได้มารวมตัวกัน มีประเด็นในการทำงาน โดยเฉพาะกระบวนการพูดคุยเจรจาสันติภาพ ที่มีการเดินหน้ารับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนพื้นที่ จัดเวทีกว่า 200 เวที เพื่อนำข้อเสนอไปยื่นถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสองฝั่ง ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย และฝ่ายคู่ขัดแย้ง ทำให้ความตึงเครียดต่างๆ ผ่อนคลายลง” นายรอซีดี กล่าว

นายรอซีดี กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ต้องมองภาพกว้างถึงบทบาทที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงาน แล้วหาทางเชื่อมร้อยอย่างไรเพื่อให้ความแตกต่างของแต่ละหน่วยงานมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น หากเป็นกลไกของ สช. ทำให้เกิดการขยับทางนโยบาย แต่ระดับปฏิบัติอาจไม่เกิดมากนัก ส่วนกลไกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อาจทำให้เกิดปฏิบัติการ เกิดกิจกรรมในพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้เกิดเป็นนโยบายใหญ่ เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นหน้าที่ของสมัชชาฯ ที่จะมองภาพกว้าง เป็นคนกลางที่จะดึงการสนับสนุนของภาคส่วนต่างๆ มาตอบสนองและเคลื่อนเป้าหมายไปด้วยกัน

นายอนุพันธ์ สุวรรณพันธ์ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า คำว่า “สุขภาพ” ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด อาจทำให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของภาคสาธารณสุข เราจึงไม่ควรยึดติดกับคำว่าสุขภาพ โดยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดศรีสะเกษได้เปลี่ยนวิธีการสื่อสารเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันได้ขยายความร่วมมือจากเดิมที่ภาคประชาสังคมเป็นหลัก ก็มีการชักชวนภาคราชการเข้ามาร่วมทำงานด้วย และความท้าทายหลังจากนี้คือการเชื่อมกับภาคเอกชนในพื้นที่ และการชักชวนกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ เข้ามาในกระบวนการ
 

อนุพันธ์ สุวรรณพันธ์


ดร.จักรพันธุ์ นาน่วม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ นั้น ภาควิชาการจะเป็นส่วนเติมเต็มและเป็นตัวกลาง ระหว่างภาครัฐที่มีกรอบการทำงานและอาจไม่ได้ลึกซึ้งถึงปัญหา กับภาคประชาชนที่เผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรงและมีอารมณ์ร่วมมากกว่า โดยภาควิชาการจะช่วยให้นโยบายสาธารณะมีเหตุมีผลมากขึ้นและสำเร็จได้
 

จักรพันธุ์ นาน่วม


ดร.จักรพันธุ์ กล่าวว่า หากต้องการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เป็นดอกผลจากสมัชชาสุขภาพฯ จำเป็นต้องชี้ให้ภาคีองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นประโยชน์จากการดำเนินการ ที่สำคัญคือต้องทำให้เข้าใจว่านโยบายสาธารณะเหล่านี้ เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ และการมีอยู่ของกระบวนการสมัชชาฯ จะช่วยลดภาระ-ลดงาน ของหน่วยงานนั้นๆ ได้จริง เพราะยังมีหลายหน่วยงานที่อาจมองว่า มติสมัชชาฯ หรือนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการไปเพิ่มภาระงานประจำให้ ฉะนั้นจึงเป็นโจทย์ให้กับสมัชชาสุขภาพแต่ละจังหวัด ว่าจะเสนอประโยชน์ของนโยบายอย่างไร

“ปกติในทุกจังหวัดจะมีแผนของตัวเอง การขับเคลื่อนก็จะอิงกับแผนปฏิบัติการ แผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด ภายใต้ตัวชี้วัด เป้าประสงค์ของเขา ฉะนั้นกลยุทธ์คือจะทำอย่างไรให้นโยบายสาธารณะของเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนเหล่านั้นได้ นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในจังหวัด ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม มาร่วมกันกลั่นกรองว่าแผนแต่ละด้านอยากเห็นอะไร แล้วด้านไหนที่ยังไม่มีใครขับเคลื่อน เราก็นำเอามาทำให้สอดคล้องกับนโยบายสาธารณะที่จะทำขึ้นมา” ดร.จักรพันธุ์ กล่าว

น.ส.ศิริพร ปัญญาเสน เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ปัญหาในจังหวัดลำปางมีมากและกระจายทั่วทั้งพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาประชาชนพยายามแก้ไขปัญหาเองแบบกลุ่มก้อนเล็กๆ ซึ่งต้องใช้พลังมาก และการขับเคลื่อนงานด้วยภาคประชาสังคมเพียงฝ่ายเดียวก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากภาคส่วนอื่นๆ ฉะนั้น ถ้าประชาชนเห็นปัญหาแล้ว ภาครัฐจำเป็นจะต้องเห็นปัญหานั้นด้วย แล้วจึงนำมาพูดคุยร่วมกัน ร่วมตัดสินใจ และจับมือขับเคลื่อนไปด้วยกัน
 

ศิริพร ปัญญาเสน


สำหรับสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปาง เกิดขึ้นในช่วงปี 2556 โดยมีทั้งภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ภาควิชาการ รวมถึงภาคประชาชน เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนปัญหาร่วมของคนลำปาง จนระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน กระบวนการนโยบายสาธารณะได้ถูกนำมาแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะของคนลำปางไปแล้ว ผ่านมติสมัชชาสุขภาพ รวม 15 มติ ที่มีใน 3 กลุ่มประเด็นหลัก คือ 1. เรื่องคน เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส 2. ความมั่นคงทางอาหาร ผลักดันห่วงโซ่อาหารในป่าชุมชน ส่งเสริมการปลูกผักกินเอง ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน 3. สิ่งแวดล้อม การจัดการหมอกควัน ไฟป่า นำไปสู่การเดินหน้าชุมชนลดการเผา
 

สมัชชาสุขภาพจังหวัด

 

 

รูปภาพ
สมัชชาสุขภาพจังหวัด