- 269 views
ภาคีเครือข่ายภาครัฐ-วิชาการ-ประชาสังคม ตบเท้าร่วมแสดงพลังการสร้างสังคมสุขภาวะ ตลอดระยะ 15 ปี “พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ” ฉายภาพผ่านเรื่องเล่ารูปธรรมการขับเคลื่อนงาน ยกระดับสุขภาพพระสงฆ์ สร้างความเข้มแข็งชุมชน พัฒนาระบบอาหารปลอดภัย-การใช้ยาสมเหตุผล ไปสู่การรวมตัวผลักดันข้อเสนอภาคประชาชน เป็นนโยบายที่จับต้องได้จริง
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดงาน 15 ปี สุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ระหว่างวันที่ 27-28 ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานพลังของภาคีเครือข่ายตลอดระยะเวลา 15 ปี ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม นับตั้งแต่การมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยช่วงหนึ่งได้เป็นการถ่ายทอดผ่านเวที เรื่องเล่ารูปธรรม “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” อันเป็นการนำเสนอประสบการณ์การขับเคลื่อนในประเด็นสําคัญต่างๆ ของประเทศ
พระครูอมรชัยคุณ เจ้าคณะตำบลสีคิ้ว และเจ้าอาวาสวัดสุชัยคณาราม จ.นครราชสีมา เปิดเผยถึงประเด็นพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ระบุว่า ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายพระสงฆ์ หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน ในการผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์ ทั้งกระบวนการแนวทางในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้อง รวมทั้งการทำให้พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน ได้ทำให้เกิดเป็นฉันทมติในประเด็น พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ บนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555
สำหรับผลที่ตามมา คือการมีข้อมูลสุขภาพของพระสงฆ์มากขึ้น จากที่ไม่เคยมีการบันทึกเอาไว้ ตามมาด้วยการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันเมื่อมีพระสงฆ์ที่เป็นพระสังฆพัฒนา (การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งของพระสงฆ์) จาก 4 ภาคเข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน ก็ได้ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ไปสู่การเกิดเป็น ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560
“การสนับสนุนองค์ความรู้ทางสุขภาพของพระสงฆ์ นำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการดูแลที่ถูกต้อง ทั้งตัวพระสงฆ์เอง บุคลากรการแพทย์ ชุมชน อีกทั้งยังเกิดการขับเคลื่อนให้พระสงฆ์มีบทบาทในสังคมมากกว่าเรื่องศาสนา แต่ยังมีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิต แนะนำเรื่องสุขภาพให้กับชุมชน ทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกายให้แข็งแรง ทำให้ชุมชนกับศาสนาใกล้ชิดกันมากขึ้น และมีผลทำให้สังคมมีความเข้มแข็งตามมา” พระครูอมรชัยคุณ กล่าว
นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ประธานมูลนิธิดวงประทีป กล่าวถึงการทำงานของภาคประชาสังคมในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ระบุว่า ตัวอย่างจากชุมชนคลองเตย ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้รับเชื้อจากย่านเศรษฐกิจต่างๆ และนำกลับมาแพร่กระจายในชุมชนอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามด้วยความเข้มแข็งของชุมชน ได้ทำให้เกิดการร่วมกันคิดมาตรการเพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์
“ชุมชนมีมาตรการ 4 ด้าน คือ 1. ตั้งสติ ไม่ตื่นตูม 2. ไม่รอรัฐอย่างเดียว 3. ระดมต้นทุนท้องถิ่น เช่น วัด โรงเรียน จิตอาสาในชุมชน และ 4. ประสานพลังชุมชน นักวิชาการ ภาคส่วนเอกชนอื่นๆ มาช่วยเหลือชุมชนในด้านอุปกรณ์ต่างๆ จะเห็นว่าชุมชนคลองเตยอาจเจอกับอุปสรรคและปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งการไล่ที่ หรือปัญหาความแออัดของชุมชน แต่ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเป็นนักสู้ของชาวชุมชน ที่เมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ จะมีสติ และใช้พลังของชุมชนคลองเตยในการต่อสู้กลับไป” นางประทีป กล่าว
ประธานมูลนิธิดวงประทีป กล่าวอีกว่า ชาวชุมชนคลองเตยยังมีเป้าหมายร่วมกันในการสานพลังของชุมชน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิด (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาวะชุมชนคลองเตย ที่จะเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวชุมชน อันมาจากความต้องการของคนในชุมชนเอง เพื่อให้เกิดกฎระเบียบการดูแลชุมชนคลองเตย ให้ชาวชุมชนมีสุขภาพกาย ใจ ที่ดี และอยู่ในสังคมที่ดี อีกทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบการจัดการให้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศได้ในอนาคต
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงประเด็นบทเรียนการขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ระบุว่า ที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่างภาคสังคมและภาครัฐ ได้ทำให้ประเทศไทยประกาศแบน 3 สารเคมีการเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 1. สารไกลโฟเซต ที่เสี่ยงก่อมะเร็ง ลดลงการนำเข้าได้ 78% 2. สารคลอร์ไพริฟอส ที่เสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์ ลดการนำเข้าได้ 100% และ 3. สารพาราควอต ที่อันตรายเสี่ยงต่อชีวิตสูง ลดการนำเข้าได้ 100%
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวงจรการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรในประเทศยังไม่หมดไป และยังคงมีการแอบนำเข้ามาใช้ หรือในอนาคตก็อาจเกิดการนำกลับมาใช้ได้อีก เพราะมีตัวอย่างจากบางประเทศที่แม้ว่าจะแบนทั้ง 3 สารเคมีดังกล่าวแล้ว แต่สุดท้ายก็มีประเด็นทางการเมืองทำให้นำกลับมาใช้อีก ดังนั้นภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน จึงกำลังเข้ามาร่วมกันเพื่อทำให้ภาคการเกษตรที่เป็นปากท้องของประเทศ เดินหน้าไปสู่ความยั่งยืน มีความปลอดภัยในอาหาร และต้องผลักดันให้มีการควบคุมศัตรูพืชด้วยชีวภาพ หรือชีววิถี ที่จะต้องร่วมกันทำให้ทุกแปลงเพาะปลูกปลอดสารเคมี
ในส่วนของ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เรื่องของการใช้ยา ไม่ใช่แค่เรื่องของแพทย์ เภสัชกร หรือภาครัฐ ที่เข้ามาคุยกันแค่ฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นการดึงเอาทุกภาคส่วนในสังคมมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use: RDU) เพราะเรื่องนี้จะมีผลต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ ไปจนถึงความเสียหายในสังคมหลายด้าน
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเชื่อมร้อยภาคีต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะในระดับพื้นที่คือชุมชน แม้จะยังไม่เกิดเครือข่ายด้านการใช้ยาสมเหตุผลอย่างจริงจัง แต่ก็ได้มีพัฒนาการของการทดลองพูดคุย และขับเคลื่อนแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ซึ่งการขยับนโยบายระดับพื้นที่ จำเป็นต้องมีกำลังของภาคประชาชนเข้ามาบูรณาการ อันจะนำไปสู่การผสานความเข้มแข็งร่วมกับภาครัฐ ภาควิชาชีพ และภาควิชาการ เชื่อมโยงไปยังนโยบายการใช้ยาระดับประเทศ สู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ที่คนไทยจะต้องมีความปลอดภัยจากการใช้ยาได้ทั้งหมด
ขณะที่ นางจงกลนี วิทยารุ่งเรื่องศรี ผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใส กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโครงการฯ ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องของการจัดการอาหารและโภชนาการในเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง โดยทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็น 3 หน่วยงานหลักที่ดูแลระบบการศึกษาในไทย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ในการกินอยู่ที่ดี
ทั้งนี้ ได้เกิดการพัฒนาเป็นคู่มือเพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้ รวมทั้งกลไกในระดับชาติหลายส่วน ที่มุ่งเป้าในยุทธศาสตร์ด้านอาหารและโภชนาการในระบบการศึกษา พร้อมด้วยการพัฒนาบทบาทของหน่วยงานท้องถิ่น ตั้งแต่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แห่งต่างๆ ทั้งกองสาธารณสุข กองการศึกษา และปัจจุบันมีกรอบอัตรากำลังสำหรับนักโภชนาการแล้วด้วยเช่นกัน
“เรามุ่งที่จะให้โรงเรียนเกิดความเข้าใจในการจัดซื้อวัตถุดิบที่มีความปลอดภัย เลือกเครื่องปรุงอย่างไร รวมไปถึงเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ภาชนะ น้ำดื่ม น้ำแข็ง ก็ต้องสะอาด ขณะเดียวกันก็ต้องจัดให้มีคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสมกับเด็ก ตลอดจนเชื่อมโยงโรงเรียนไปสู่ที่บ้านให้เกิดการจัดการอาหารไปในทางเดียวกัน แต่สิ่งต่อไปที่เราอยากเสนอ คือให้เกิดการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการกินของคนตั้งแต่เล็กจนโต เพื่อที่อนาคตหากเกิดป่วยเป็นโรคขึ้น จะได้สามารถตรวจสอบถอยกลับไปได้ว่าที่ผ่านมามีพฤติกรรมการกินเป็นอย่างไร” นางจงกลนี กล่าว
ด้าน น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารนโยบายสาธารณะและวาระทางสังคม ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ได้เกิดการรวมตัวขององค์กรรวมกว่า 84 องค์กร เป็นเครือข่ายปลุกกรุงเทพ ที่ลุกขึ้นมาสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เปลี่ยนเวทีหาเสียงให้เป็นเวทีของการระดมเสียง และสิ่งที่ระดมในวันนั้นก็ได้กลายเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้ จากจุดเริ่มต้นที่มาจากการรับฟังความต้องการของผู้คน ผ่านเวทีสาธารณะที่จัดขึ้นมากมายในช่วงระยะเวลาราว 1 เดือน
น.ส.ณาตยา กล่าวว่า สิ่งที่ได้ออกมาคือข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคประชาชนที่บันทึกไว้เป็น สมุดปกขาว ที่บรรจุรวม 30 ประเด็นนโยบาย 127 มาตรการ ในการพัฒนา กทม. เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการน้ำ ฝุ่นละออง ขยะ ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย ลดอาชญากรรม ตลอดจนภัยพิบัติ เป็นต้น และกิจกรรมนี้ก็ไม่ได้จบลงไปหลังการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเกิดกลไกในการติดตามตรวจสอบการขับเคลื่อนนโยบายที่ประชาชนนำเสนอนี้ด้วยเช่นกัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141