- 555 views
“สช.-สสส.” สร้างการมีส่วนร่วมแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ ชักชวน 2 คนรุ่นใหม่สายกรีนพูดคุยผ่าน webinar “มารีญา” เชื่อ ปัจจุบันเสียงคนรุ่นใหม่ดังขึ้นแล้ว แต่กลับไม่มีใครเอาไปขับเคลื่อนต่อ ด้าน “วรรณสิงห์” ระบุ อย่าจำกัดบทบาทคนรุ่นใหม่เป็นแค่ผู้ต่อต้าน แต่ต้องเปิดช่องให้ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย มั่นใจ แก้ PM 2.5 ให้ได้ผล ต้องมีกฎหมายเฉพาะ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ Thailand Youth Policy Initiative ร่วมกันจัดเวที Webinar ในหัวข้อ “ปัญหา PM 2.5 กับชีวิตคนรุ่นใหม่” เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2564
น.ส.มารีญา พูลเลิศลาภ ผู้ก่อตั้งโครงการ SOS Earth เปิดเผยว่า กลุ่มเยาวชนนั้นมี Passion มากเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง ทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นปรากฎการณ์ Climate Strike ที่จุดกระแสไปทั่วโลก จนผู้ใหญ่ต้องหยิบยกประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นมามากกว่าเดิม เช่นเดียวกับประเทศไทยเอง ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มีการส่งเสียงออกมามากขึ้น และเป็นเสียงที่ดัง แต่ยังมองไม่เห็นว่าผู้มีอำนาจรับฟังไปแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อ
“ปัญหาคือเมื่อเสียงเหล่านั้นดังออกมาแล้ว เราได้เห็นว่ามีปัญหาอยู่จุดไหน ได้เห็นว่ามีผู้คนที่ออกมาขับเคลื่อน แต่กลุ่มผู้ที่มีอำนาจเมื่อรับฟังแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อ ส่วนนี้เป็นจุดที่อาจยังมองไม่เห็นมากนัก จึงอยากให้มีพื้นที่ใดที่คนรุ่นใหม่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็น แล้วผู้มีอำนาจสามารถนำประเด็นเหล่านั้นไปขับเคลื่อนต่อได้” น.ส.มารีญา กล่าว
น.ส.มารีญา กล่าวอีกว่า ในส่วนของปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาหลักคือความรู้สึกของคน ว่าจะมองเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญหรือไม่ หรือจะเข้ามาทำอะไรเพื่อมีส่วนช่วย เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญทั้งในส่วนนโยบายของรัฐและของเอกชน โดยจะต้องเห็นภาพของปัญหาที่เป็นห่วงโซ่ และไม่ใช่แค่ฝุ่นละออง PM2.5 แต่เป็นทั้งเรื่องของขยะ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ที่ทุกอย่างล้วนเชื่อมต่อกัน
“ในฐานะที่ได้รณรงค์ผู้บริโภคให้เกิดความตระหนัก ก็ไม่อยากให้คนต้องรู้สึกว่าเป็นเรื่องเครียดขนาดนั้น ที่จะต้องมาคำนึงถึงในทุกการกระทำ ว่าเราจะกินอะไร เดินทางยังไง เกิดผลกระทบแค่ไหน แต่อยากให้เกิดระบบที่ทุกอย่างเอื้อให้คนสามารถใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่านี้ ฉะนั้นจึงอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงทางระบบมากกว่าที่จะมาเป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ใช่ต้องมาเครียดว่าฉันคนเดียวจะต้องสร้างอิมแพคได้ขนาดไหน” น.ส.มารีญา กล่าว
นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นใหม่นับว่าเป็น norm แล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างจาก เกรต้า ธันเบิร์ก กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งในฮ่องกง ไทย พม่า หรือปาเลสไตน์ ที่ลุกขึ้นมานำโดยกลุ่มคนุร่นใหม่ แต่ทว่าบทบาทนั้นยังคงถูกจำกัดอยู่ในฐานะผู้ประท้วงเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารจัดการใดๆ
นายวรรณสิงห์ กล่าวว่า จะมีเพียงบางประเทศ เช่น เอสโตเนีย ฟินแลนด์ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเทศที่มีความแข็งแรงทางประชาธิปไตยสูง และอนุญาตให้คนรุ่นใหม่มีบทบาทในการบริหารจัดการ ทำให้ความคิดเดินไปข้างหน้ารวดเร็ว แต่สำหรับไทยที่ไม่มีระบบแบบนี้รองรับ จึงยังเกิดเป็นการปะทะกันระหว่างความคิด ดังนั้นปัจจุบันจึงไม่ใช่คำถามว่าคนรุ่นใหม่มีเสียงหรือไม่ แต่คือการจะทำอย่างไรให้เสียงของคนรุ่นใหม่เป็นมากกว่าแค่การต่อต้าน และจะนำไปสู่การสร้างสิ่งใดได้
ทั้งนี้ ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดขณะนี้ คือเราอยู่ในยุคแห่งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกรวมถึงมนุษย์ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการล่มสลายของสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน ขยะ น้ำเสีย การปล่อยก๊าซ ที่เป็นปัจจัยรองลงมา โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่มากที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่มองว่าเรื่องของการรักโลกเป็นเพียงการทำความดี หรือไปปลูกป่าเท่านั้น
“การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางสังคม เช่น ระบบทุนนิยม ที่อนุญาตให้เราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ บนดาวที่จะมีลิมิตของการเติบโต เราต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่หรือไม่ รวมถึงเรื่องของความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ไปยังจุดที่มีปัญหาของสังคม เพราะการที่จะให้คนยากไร้ ด้อยโอกาส ต้องมาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐาน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล” นายวรรณสิงห์ กล่าว
นายวรรณสิงห์ กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง จึงคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องมองมาที่คนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่เป็นในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของโครงสร้าง อย่างการที่ประเทศไทยไม่มีองค์กรรับผิดชอบในเรื่องของมลภาวะทางอากาศโดยตรง มีเพียงกฎหมายลูกของหลายหน่วยงาน ซึ่งรับผิดชอบแต่ปัจจัยย่อยๆ ที่ทำให้เกิดมลภาวะ เช่น ดูแลเรื่องรถ ดูแลไฟป่า ดูแลอุตสาหกรรม แต่ทั้งหมดล้วนแยกส่วนกัน
“อย่างอเมริกาสามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการมีกฎหมาย Clean Air Act ในปี 1970 ซึ่งเป็นตัวอย่างของการจัดการมลภาวะทางอากาศให้กับทั่วโลก ตามมาด้วยการมีหน่วยงาน EPA ซึ่งมีอำนาจชัดเจนในการลงดาบผู้ทำกระทำความผิดทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแม้การสร้างส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ หรือคนในท้องถิ่นเพื่อมาร่วมกันจัดการฝุ่นละอองจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สุดท้ายการจะแก้ปัญหาได้จะต้องไปแก้ที่กฎหมายและนโยบาย” นายวรรณสิงห์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทั้ง สช. และ สสส. เห็นร่วมกันว่าอนาคตของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ และไม่อยากให้การมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่เป็นแค่เสียง แต่ต้องการให้เป็นพลังที่เกิดการขับเคลื่อนได้จริง โดยเฉพาะจุดแข็งและศักยภาพที่คนรุ่นใหม่มี ทั้งความสามารถด้านดิจิทัล การเข้าถึงข้อมูลบนโลกไร้พรมแดน รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า
ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาฝุ่นละออง แม้ สช.จะเคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเห็นถึงปัญหานี้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ยังเป็นการมุ่งไปที่หมอกควันในภาคเหนือ ทว่าเมื่อมีปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกิดหนักขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีปัจจัยมาจากหลายส่วน สิ่งนี้จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และต้องเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน
“ในส่วนของภาครัฐเองนั้นมีบทบาทและข้อจำกัดของการทำงานอยู่ แต่คนรุ่นใหม่จะมีศักยภาพ ในการเข้ามามีส่วนร่วมพูดคุย ดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง หรือมีนวัตกรรมอะไรออกมา แล้ว สช. กับ สสส.ก็จะนำเอาสิ่งเหล่านั้นออกมาทำให้เกิดขึ้นจริง เพราะที่ผ่านมาเรามีแพลตฟอร์มในการสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเกิดจากใครก็ได้ กลุ่มใดก็ได้ เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมกำหนดกติกา ใช้จินตนาการมาเติมเต็ม และเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ที่จะทำงานร่วมกัน” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9141