- 3283 views
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นPM2.5 อย่างหนัก ขณะที่หลายหน่วยงานก็เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยมาตรการหลายอย่าง
ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นมลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กจนสามารถเล็ดลอดขนจมูกและผ่านผนังปอดเข้าสู่ร่างกาย เข้าสู่เส้นเลือดฝอย กระจายไปตามอวัยวะได้ ฝุ่นนี้ยังเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งอื่น
ประชาชนต่างตระหนักรู้ถึงผลร้ายและคอยตรวจสอบข่าวสาร เพื่อจะพบว่าฝุ่นในเขตพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัยเกินค่ามาตรฐานวันแล้ววันเล่า แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่มีการกล่าวถึง “การป้องกันตัวเอง” เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากนัก
ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช กรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) กล่าวถึงแนวทางในการปฏิบัติตัวของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์ที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะ ‘กลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม’ ที่มีสภาวะร่างกายอ่อนแอกว่าคนทั่วไป ดังนี้
1.ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้มักมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ
ข้อแนะนำ 1.งดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงนอกบ้านทั้งหมด เช่น การออกกำลังกาย การท่องเที่ยว 2.อยู่แต่ภายในบ้าน การอยู่ในบ้านก็สามารถออกกำลังกายได้ 3.ตรวจสอบไม่ให้มีฝุ่นภายในบ้าน โดยไม่ใช้กวาดบ้านกวาดบ้านเพราะฝุ่นจะยิ่งฟุ้งกระจาย แต่ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดฝุ่นแทน 4.ปิดประตูหน้าต่างกันฝุ่นจากภายนอก 5.ไม่จุดธูปเทียนในบ้าน ไม่ทำกับข้าวในครัวที่อยู่ภายในบ้าน เพราะงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวในบ้านอาจทำให้มีคุณภาพอากาศแย่กว่าข้างนอกด้วยซ้ำไป 6.ถ้ามีหน้ากากกันฝุ่นก็ควรใส่ไว้แม้อยู่ในบ้าน เพราะเราไม่สามารถปิดประตูหน้าต่างตลอดเวลา ยกเว้นว่าเป็นบ้านที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 7.หากมียาที่ต้องทานประจำก็ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับทานอย่างน้อย 1 สัปดาห์
2.เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 10 ปี เด็กเมื่อคลอดออกมาจะมีภูมิคุ้มกันจากแม่จนถึง 5 ขวบเท่านั้น หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันจะลดลง เราจึงพบว่าหลัง 5 ขวบเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารได้ง่าย และการศึกษาพบชัดเจนว่า ฝุ่นไปกระตุ้นโรคทางเดินหายใจให้เกิดได้ง่ายกว่าปกติ
ข้อแนะนำ การปฏิบัติตัวคล้ายกับผู้สูงอายุ อย่าออกกำลังกายนอกบ้าน กำจัดฝุ่นในบ้าน ส่วนการสวมหน้ากากอนามัยยังไม่จำเป็นมากในเด็กและหน้ากากไซส์เล็กก็ค่อนข้างหายาก แนะนำให้ใช้เท่าที่จำเป็นเมื่อต้องเดินทางข้างนอก
3.หญิงมีครรภ์ มีการศึกษาชัดเจนว่า ฝุ่นนี้จะทำให้เด็กในท้องเกิดภาวะการเจริญเติบโตช้า มีน้ำหนักน้อยกว่าเด็กปกติในอายุครรภ์เท่ากัน เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีโรคอื่นๆ ตามมามากมาย ทั้งโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และเกี่ยวข้องกับออทิสซึ่มด้วย
ข้อแนะนำ การปฏิบัติตัวก็คล้ายกับกรณีผู้สูงวัย
4.ผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมากคือ ผู้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ฝุ่นจะซ้ำเติมให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น
ข้อแนะนำ นอกจากจะปฏิบัติตัวตามที่กล่าวไป สิ่งที่ต้องเตรียมไว้คือ อุปกรณ์เกี่ยวกับการช่วยชีวิตทั้งหลาย เช่น ถังออกซิเจน หรือเตรียมยาพ่นสำหรับผู้ป่วยหอบหืด โดยเตรียมล่วงหน้าให้ใช้ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ หากใช้ตามปกติแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นไข้หวัด ขอให้ไปพบแพทย์โดยไม่ลังเล
นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนที่หน่วยงานต่างๆ ใช้แก้ปัญหาเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การติดตั้งเครื่องพ่นน้ำตามตึกสูง แม้มีการนำเสนอตัวเลขว่าลดฝุ่นได้มาก แต่หากดูข้อมูลนานาชาติหรือกรณีที่เกิดในจีนพบว่ามันช่วยลดได้เพียง 5-10% เท่านั้น เป็นต้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การหามาตรการแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาว
นพ.วิพุธ ยกตัวอย่างการจัดการปัญหาในประเทศจีนว่า เมื่อเกิดปัญหามลภาวะเกินขีดมาตรฐานไปมาก ก็จะมีการบังคับให้โรงงานที่ใช้น้ำมันดีเซลขับเคลื่อนเครื่องจักรหยุดการผลิต อาจจะเริ่มต้นที่ 1 สัปดาห์ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวออกไปต้องมีการควบคุมจริงจัง ประเทศไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วในการควบคุมฝุ่น PM10 ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเน้นการตรวจสภาพเครื่องยนต์ของรถที่จะต่อทะเบียน ดังนั้น หากตรวจสอบไปได้ถึง PM2.5 ด้วยก็เท่ากับเป็นมาตรการเชิงนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาว
“โรงไฟฟ้าจากถ่านหินก็เป็นสาเหตุของ PM2.5 มากพอสมควร เราจึงต้องกำกับควบคุมพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน การจัดการกับ air pollution ที่ออกมาจากโรงงานอาจจะเพิ่มต้นทุนให้โรงงาน แต่หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ต้นทุนดังกล่าวก็จะตกที่สังคมดังที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้
การตรวจวัด PM2.5 ที่ทำกันอยู่นี้ ในแง่หนึ่งก็นับเป็นเรื่องดีเพราะมันจะเป็นตัวกระตุ้นทางนโยบาย การต่อสู้กับโรงงาน ในอดีต เราไม่เคยพูดถึงกันว่าประเทศหรือท้องถิ่นมีสมรรถนะในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากมลพิษเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มีวิกฤตการณ์ขึ้นมา ก็ยากที่จะกระตุกสังคมไทย” นพ.วิพุธกล่าว
ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ เห็นว่า ประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหาคือการควบคุมการเผาชีวมวลอย่างจริงจัง เพราะข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2560 พบว่า แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มากที่สุด คือ การเผาชีวมวล ประมาณ 38% ซึ่งการเผาดังกล่าวมักเกิดขึ้นในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ อันดับสองคือ ท่อไอเสียรถยนต์ อันดับสามคือ ฝุ่นทุติยภูมิ เกิดจากฝุ่นสองแหล่งแรก ทำปฏิกิริยากันแล้วเกิดฝุ่นชนิดใหม่ซึ่งก็อันตรายพอกัน ข้อแนะนำคือ จัดให้มี call center เหมือนภาคเหนือ เมื่อมีการแจ้งเข้ามาว่ามีการเผาที่ไหนก็มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปดับไฟทันทีตลอด 24 ชม.
ด้านประธาน HIA Commission กล่าวทิ้งท้ายว่า ในระยะยาว ขอให้ประชาชนและผู้ออกแบบนโยบายอย่าลืมว่าเรื่องนี้ต้องแก้เชิงโครงสร้างในการผลิตทางอุตสาหกรรม การขนส่ง การวางผังเมือง
“มีนาคม ลมว่าวมา ปัญหา PM2.5 ก็จะเบาบาง เราอย่าลืมเรื่องนี้ และต้องวางแผนแก้ระยะยาว ทำยังไงที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน” นพ.วิพุธ กล่าว
มาตรการระยะกลาง – ระยะยาวของรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562
มาตรการระยะกลาง (พ.ศ. 2562 - 2564)
เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดย
- ประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm
- พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ
- เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ
- พิจารณาปรับวิธีการและปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี พิจารณาการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า การซื้อ-ทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และการจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมือง การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาศักยภาพท้องถิ่นในการดำเนินการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ และการควบคุมเป็นระบบ Single Command
มาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567)
เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดย
- ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน EURO 6
- กำหนดให้มีการติดตั้ง Diesel Particulate Filter (DPF) ในรถดีเซลเพิ่มเติม
- ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วมาเปลี่ยนแทนเครื่องยนต์เก่าในรถยนต์
- พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบและครอบคลุมพื้นที่
- กำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่า EU และ USA
- กำหนดให้เจ้าของ/ผู้ประกอบการที่มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่ของโครงการหรือพื้นที่ครอบครองเป็นความผิดอาญา
- ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
- ศึกษาความเหมาะสมในการสร้าง/ติดตั้งหอคอยฟอกอากาศขนาดใหญ่ บูรณาการงานวิจัยด้านมลพิษทางอากาศเพื่อขับเคลื่อนระดับนโยบาย
- ปรับปรุง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม (Clean Air Act)
- ปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ WHO IT-3
นอกจากนี้ให้มีกลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยสั่งการตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อจัดการปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และให้จังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน
ที่มา: https://www.ryt9.com/s/cabt/2950136
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143