- 216 views
240 ภาคีเครือข่ายในฐานะสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ร่วมถอดบทเรียนความสับสนในสถานการณ์โควิด-19 พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอในระเบียบวาระ “การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ”จากนั้นจะเสนอให้ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14”เคาะเป็นนโยบายสาธารณะฯ ก่อนชง ครม.รับทราบ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติออนไลน์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 เพื่อพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 1 เรื่อง “การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ระเบียบวาระของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2564 และจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่จะขึ้นในวันที่ 15-16 ธ.ค. นี้
สำหรับระเบียบวาระดังกล่าว มุ่งให้เกิดการจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในวิกฤตสุขภาพ โดยมีแผนการสื่อสารที่เป็นระบบเพื่อสื่อสารไปยังประชาชนอย่างเป็นเอกภาพ โปร่งใส และเหมาะสมกับช่วงเวลา และมีศูนย์บัญชาการการสื่อสาร ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกในการปฏิบัติ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง อันจะส่งผลให้สังคมไทยผ่านพ้นวิกฤตสุขภาพไปได้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ เนื่องจากบทเรียนในวิกฤตสุขภาพ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 พบว่าหลายมาตรการที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ยังไม่สามารถตอบคำถามหรือข้อสงสัยที่ประชาชนยังสับสนได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากยังขาดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการภาวะวิกฤตที่ชัดเจน และยังขาดการบัญชาการในทุกระดับอย่างเป็นเอกภาพ ส่งผลให้การจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤตขาดความเหมาะสม ขาดการมีส่วนร่วม และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อ่อนไหวและซับซ้อน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ในส่วนของมติที่จะเป็นข้อเสนอตามระเบียบวาระนี้ อาทิ การให้ภาครัฐเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารในวิกฤตสุขภาพ โดยกำหนดให้เป็นวาระสำคัญเร่งด่วน พร้อมกำหนดแนวทางไว้เป็นการเฉพาะในแผนแม่บท ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์บัญชาการการสื่อสารจากจุดเดียว อย่างเป็นเอกภาพ พัฒนาฐานข้อมูลหรือศูนย์ข้อมูลในแต่ละระดับที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และทันเวลา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอต่างๆ จะต้องได้รับฉันทมติในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อมติ
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ประธานการพิจารณาระเบียบวาระฯ เปิดเผยว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงสภาวะของการสื่อสารที่ไม่มีความเป็นระบบ เกิดการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารจากหลายส่วน ทั้งที่เป็นของจริงและของปลอม นำมาซึ่งปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะความตื่นตระหนก หรือความไม่เข้าใจต่อการป้องกันโรค ดังตัวอย่างที่เห็นชัดเจนเช่นในกรณีของวัคซีนโควิด ที่ในช่วงแรกผู้คนเกิดความไม่เชื่อมั่นเนื่องจากข้อมูลที่ส่งต่อกัน จนมีการไม่ยอมรับการฉีดเกิดขึ้น
“ปัญหาจากการสื่อสารในสภาวะวิกฤตที่สังคมกำลังมีความทุกข์จะยิ่งทำลายสภาพจิตใจของประชาชน เราจึงเห็นข่าวผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตายจากการเสพข่าวเหล่านี้ โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีทั้งสื่อเก่า สื่อใหม่ ตลอดจนสื่อบุคคลที่ไม่ว่าใครก็สามารถกระจายข้อมูลได้ ปัญหาเหล่านี้จึงไม่สามารถควบคุมได้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง นั่นเป็นที่มาของการนำเสนอการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” นางอรพรรณ กล่าว
นางอรพรรณ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาระเบียบวาระรอบแรกในวันนี้ ที่ประชุมที่มีสมาชิกสมัชชาฯ เข้าร่วมมากกว่า 240 เครือข่าย ค่อนข้างเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงความจำเป็นของการจัดการการสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยให้ข้อเสนอแนะถึงรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น การตั้งศูนย์บัญชาการข้อมูลข่าวสารที่ไม่ใช่ลักษณะออกคำสั่ง แต่อาจเป็นศูนย์อำนวยการ การให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแรงงานข้ามชาติ ที่ยังเผชิญกับข้อจำกัดของการสื่อสาร
อนึ่ง ระเบียบวาระที่ 2.3 การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ ได้จัดให้มีการพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 1 ในวันที่ 6 ต.ค. 2564 และเปิดรับความเห็นจนถึงวันที่ 20 ต.ค. 2564 ก่อนจะมีการพิจารณาระเบียบวาระ รอบที่ 2 ในวันที่ 12 พ.ย. 2564 จากนั้นจึงจะเข้าสู่การให้ฉันทมติต่อระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 วันที่ 15 ธ.ค. 2564
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141