- 366 views
สช. ระดมผู้แทนธุรกิจขนส่ง-ขายออนไลน์ ร่วมหารือมาตรการควบคุม “บุหรี่ไฟฟ้า” หลังพบปัญหาเด็ก-เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย เผยสถานการณ์ปัจจุบัน เด็กซื้อได้สะดวกเพราะมี “เก็บเงินปลายทาง” พร้อมขนส่งที่รวดเร็ว ด้านตำรวจชี้มองความผิดทางกฎหมายร้ายแรงเทียบเคียง “ยาบ้า” ผู้ครอบครองก็มีส่วนผิดได้ ชวนทุกภาคส่วนร่วมหามาตรการ-ทางออก เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายผ่าน “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น”
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า หัวข้อ ธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์และการขนส่งสินค้า โดยมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนบริษัทขนส่งสินค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ศ.พญ.สุวรรณา เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในเวทีชวนคิดชวนคุย ระดมความเห็นและข้อเสนอจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะผลกระทบกับเด็กและเยาวชนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยมีธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ขนส่ง ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่เข้ามามีส่วนสำคัญกับประเด็นปัญหานี้
“บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมาช่วยกันแก้ไข และหาแนวทางที่จะปกป้องเด็กและเยาวชนของเรา เพราะปัญหาใหญ่ขณะนี้คือกลุ่มเด็กที่ยังมีความรู้ไม่เท่าทัน บางครั้งถูกล่อลวงด้วยข้อมูลผิดๆ ว่าสูบแล้วไม่อันตราย สูบแล้วไม่ติด ไม่ผิดกฎหมาย แม้แต่การตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าขณะนี้ก็มาในรูปโฉมของเล่น หรือที่เรียกว่า Toy Pod แสดงให้เห็นว่านี่ไม่ใช่การเจาะกลุ่มตลาดของผู้ใหญ่ แต่เป็นการจงใจทำมาเพื่อหลอกขายให้กับเด็กและเยาวชนจริงๆ ซึ่งทุกวันนี้เราเห็นแม้กระทั่งเด็ก ป. 1 ก็หาซื้อสูบเองได้” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร เลขานุการคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ประกาศกระทรวงพาณิชย์ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522, คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558, พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 โดยสรุปคือเรามีกฎหมายที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าไว้แล้วทั้งหมด ตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามให้บริการ ห้ามสูบในพื้นที่สาธารณะ ห้ามครอบครอง ฯลฯ ซึ่งแต่ละส่วนล้วนมีบทกำหนดโทษที่ชัดเจน แต่อาจเป็นประเด็นในแง่ของการบังคับใช้
ด้าน ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่พบอีกประการหนึ่งคือ นอกจากบุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถค้นหาร้านจำหน่าย และสั่งซื้อได้อย่างง่ายดายบนโลกออนไลน์แล้ว ยังพบว่าแต่ละร้านมีการแข่งขันเรื่องระบบขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าจะส่งด่วน ส่งฟรี ได้รับภายในวันเดียว รวมถึงมีการนำโปรโมชั่น/บริการของบริษัทขนส่งเจ้าใหญ่ๆ มาใช้ในการส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าของตนเองด้วย ซึ่งระบบที่เป็น "COD หรือ cash-on delivery อาจทำให้เยาวชนเข้าถึงและซื้อหาบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น"
“ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนจึงสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายมาก โดยที่พ่อแม่อาจไม่มีทางรู้เลย เพราะนอกจากจะค้นหาได้ง่าย ยังมีราคาไม่สูง และระบบการส่งที่สะดวก ซึ่งถามว่าธุรกิจขนส่งแบรนด์ต่างๆ ขณะนี้ทราบปัญหาแล้วหรือไม่ ว่าเขากำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกเอาไปใช้โปรโมตเพื่อขายของผิดกฎหมายอยู่ ขณะเดียวกันหากมองในแง่กระบวนการกฎหมาย ความผิดเขาก็มีส่วนร่วมครบเลย มีทั้งสินค้าอยู่กับตัว ทั้งรับเงินจากลูกค้าเอง ดังนั้นธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์เจ้าต่างๆ จึงควรตระหนักถึงในเรื่องนี้ด้วย และมาหาแนวทางป้องกันร่วมกัน” ผศ.ดร.ศรีรัช ระบุ
ด้าน พล.ต.ต.นาวิน เส็งสมวงศ์ ผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า หากเรามีการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ได้ดี เช่น มีการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นทาง การนำเข้าสินค้า ก็จะช่วยปิดประตูปัญหาส่วนหนึ่งลงไปได้ ซึ่งในส่วนขั้นตอนกระบวนการขนส่งที่มาร่วมหารือกันในวันนี้ ถือเป็นปัญหาที่ปลายทาง แต่ก็นับว่าเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะในช่วงของการขนส่ง ผู้ที่มีสินค้าอยู่ในครอบครองก็จะมีความผิดและมีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย
“เรื่องนี้จึงมีองคาพยพที่เกี่ยวข้องอยู่มาก แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเรายังมองปัญหานี้เพียงผิวเผิน ไม่ได้ถูกยกระดับขึ้นมา แต่ถ้าเรามองให้ดีจะเห็นว่าความร้ายแรงของสินค้าพวกนี้ มองเทียบเคียงได้กับยาบ้า คือไม่มีใครสามารถนำเข้าได้ ไม่สามารถครอบครองได้ โทษความผิดที่มีก็ถือว่าค่อนข้างแรง แต่ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าคือคนส่วนใหญ่อาจยังมองว่าไม่ใช่เหตุภัยร้ายแรง ไม่ได้มีผลกระทบมากมายเหมือนกับยาบ้า และยังเห็นคนสูบกันอยู่ทั่วไป จึงคิดว่าการขับเคลื่อนในเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องยกระดับ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาหามาตรการเพื่อช่วยกันต่อไป” พล.ต.ต.นาวิน ระบุ
สำหรับประเด็นสำคัญอื่นๆ จากการร่วมกันหารือในครั้งนี้ ตัวแทนบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ร่วมฉายภาพถึงกระบวนการขนส่งพัสดุ ที่จะมีการใช้บัตรประชาชนของผู้ส่งเพื่อบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบ จึงสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ในกรณีที่เกิดปัญหาการส่งสินค้าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามความแตกต่างระหว่างไปรษณีย์ไทยกับบริษัทขนส่งเอกชน คือการควบคุมกำกับที่แตกต่างกัน ซึ่งไปรษณีย์ไทยจะอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมี พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 กำกับดูแล ขณะที่เอกชนจะจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดูแล จึงนับว่ายังไม่มีหน่วยงานกลางหรือกฎหมายที่จะกำกับดูแล ควบคุมให้ระบบการขนส่งเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน
ในขณะที่ตัวแทนธุรกิจขนส่งเอกชน ได้ร่วมสะท้อนถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ต้องเน้นจำนวน หรือปริมาณพัสดุเป็นหลัก ทำให้การตรวจสอบสินค้าอาจทำได้ยากและกระทบกับการดำเนินธุรกิจ แต่ด้วยรูปแบบของธุรกิจที่มีแฟรนไชส์สาขา ทางบริษัทจึงมีนโยบายในการปรับเงินจากแฟรนไชส์ หากพบว่ามีการนำส่งสินค้าที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ เพื่อให้สาขาต้นทางมีการควบคุมและจำกัดการส่งจากผู้ส่งรายนั้นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากบริษัทขนส่งมีความตระหนักในประเด็นของบุหรี่ไฟฟ้า ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและดำเนินการได้ หากมีช่องทางหรือมาตรการในการให้ความร่วมมือที่ชัดเจน
อนึ่ง ธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์และการขนส่งสินค้า จะเป็นหน่วยงาน 1 ใน 3 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า จะร่วมหารือเพื่อรับฟังข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอ เพื่อนำไปสู่การร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ที่เป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550