สช.-สธ.-สปสช.-สสส.-กทม. ระดม “คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ร่วมวางทิศทางงานปี 2567-2568 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

5 ม.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดเวทีประชุมการนำเสนอผลการประเมินผลลัพธ์จากการดำเนินงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ปี พ.ศ. 2567-2568 โดยมีผู้แทนคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) จากทั้ง 13 เขตทั่วประเทศเข้าร่วม ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต และผ่านช่องทางออนไลน์
 

สุเทพ เพชรมาก


นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. 2559 ได้ให้ กขป. กำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์ในการดำเนินการและพัฒนาเกี่ยวกับระบบสุขภาพในเขตพื้นที่ โดยบูรณาการภารกิจและอำนาจหน้าที่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องตามความจำเป็นของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ และนโยบายยุทธศาสตร์ของ คสช.

ทั้งนี้ ปัจจุบันภายใต้การดำเนินงานของ กขป. ชุดที่ 2 ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2564-2568 มีตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จในการดำเนินงานที่เกิดขึ้น เช่น กขป.เขตพื้นที่ 1 มีการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ จัดอบรมและพัฒนาศักยภาพจนเกิดพระคิลานุปัฏฐากครอบคลุมทุกอำเภอ และครอบคลุมทุกตำบลในบางจังหวัด หรือ กขป.เขตพื้นที่ 10 มีการใช้ธรรมนูญสุขภาพตำบลนาโพธิ์กลาง อ.บุญฑริก จ.อุบลราชธานี เป็นกรอบแนวทางควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ พร้อมยกระดับการสร้างสุขภาพที่พัฒนาไปทั้งอำเภอ เกิดการยอมรับ จนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยกเป็นพื้นที่ต้นแบบใช้ธรรมนูญตำบลสู้โควิด-19
 

สุเทพ เพชรมาก


นพ.สุเทพ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของกลไก กขป. นับเป็นความเชื่อมั่นในพลังของภาคพลเมืองและภาคส่วนต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพในระดับพื้นที่ ครอบคลุมนิยามสุขภาวะทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม และปัญญา มากกว่าเพียงภารกิจด้านสุขภาพที่ถูกคิดกำหนดมาจากส่วนกลาง ขณะเดียวกันหน่วยงานอย่าง สธ. สช. สปสช. และ สสส. จะเข้ามาหนุนเสริมการทำงานอย่างไรโดยมีพื้นที่เป็นเป้าหมาย และประชาชนเป็นศูนย์กลาง
“หน่วยราชการเรามีกระทรวง กรม กองต่างๆ ที่มีงบประมาณ มีเป้าหมาย มีตัวชี้วัดต้องไปรับผิดชอบ บางทีทำงานเรื่องเดียวกัน แต่ต่างคนต่างไปทำ หากเราสามารถมองเห็นเป้าหมายตรงกลางร่วมกันได้ หยิบยกโจทย์ปัญหาด้านสุขภาพของพื้นที่ซึ่งมีอยู่หลายเรื่อง ขึ้นมาขับเคลื่อนให้เห็นเป็นผลสำเร็จ โดยมี กขป. เป็นแกนกลางเชื่อมโยงแต่ละภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำงาน เชื่อว่าจะทำให้เราเห็นความสำเร็จในพื้นที่การทำงานขยายวงมากขึ้น” นพ.สุเทพ กล่าว
 

พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์


นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สำนัก 7) สสส. กล่าวว่า ในระบบเดิมที่ภาครัฐเป็นกลไกหลักในการจัดการปัญหาด้านสุขภาพ แม้อดีตอาจทำได้ดีในแง่ของการจัดการโรคติดเชื้อต่างๆ แต่ในระยะหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าปัญหาด้านสุขภาพนั้นซับซ้อนเกินว่าที่จะรอการสั่งการจากส่วนกลางได้ จึงต้องให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมกัน อันเป็นหลักคิดเดียวกันของการเกิด กขป. ขึ้นมาเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงภาคส่วนอื่นๆ เหมือนกองทัพที่รบไปด้วยกัน โดยรู้ว่าแต่ละส่วนมีจุดแข็งจุดเด่นอย่างไร

“ภาครัฐมีทรัพยากร ภาควิชาการมีองค์ความรู้ ภาคประชาชนมีความเข้าใจในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาเรายังสู้รบกับปัญหาสุขภาพไม่ชนะ เพราะต่างคนต่างรบ อย่างในอดีตเราพึ่งพิงส่วนกลางเยอะ มองว่าสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมาย กติกา เช่น การจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ การห้ามจำหน่ายเหล้า ฯลฯ ซึ่งก็ช่วยลดพฤติกรรมได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเราจะพบว่าต่อให้บังคับใช้กฎหมายมากกว่านี้ ก็ไม่อาจส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมได้มากขึ้น ดังนั้นการรบในสมรภูมิพื้นที่จะเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะ กขป. ที่ร่วมกับกลไกในระดับจังหวัด ซึ่งจะมีความเข้าใจ ยืดหยุ่น และสามารถจัดการปัญหาได้ดีกว่า” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
 

ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. กล่าวว่า การจะสร้างความยั่นยืนให้กับการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพได้นั้น สิ่งสำคัญคือการทำงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย ที่จะประสานบทบาทและภารกิจร่วมกัน ส่วนในแง่ของงบประมาณการดำเนินงานในพื้นที่ ยืนยันว่ามีอยู่ไม่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) กองทุนดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ฯลฯ ซึ่งอาจต้องให้ภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เข้ามาร่วมกันบริหารจัดการอย่างจริงจังมากขึ้น
 

สุนันทา กาญจนพงศ์


ขณะที่ นางสุนันทา กาญจนพงศ์ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายของ สธ. ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพทั้งการส่งเสริม รักษา ป้องกัน ฟื้นฟู เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะเสนอเป็นวาระแห่งชาติ คือการส่งเสริมการมีบุตรและการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องอาศัยการสานพลังการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่ โดยกลไกอย่าง กขป. จะมีส่วนเข้ามาเป็น Soft Power ที่สำคัญในการรวมพลังเพื่อพัฒนาสุขภาวะคนไทยให้ดีขึ้นได้
 

สุนทร สุนทรชาติ


นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กทม. เองเป็นพื้นที่เขตเมืองที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญในพื้นที่ โดยมี กขป.เขตพื้นที่ 13 เป็นกลไกช่วยผลักดันความร่วมมือในการทำงาน แต่คณะกรรมการฯ เองยังจำเป็นต้องมีการจัดระบบให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม และต้องเข้าใจบทบาทภารกิจของตนให้ชัดเจนตรงกัน ขณะเดียวกันก็ต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตามกลไกการทำงานในรูปแบบต่างๆ ร่วมกัน
 

ปรีดา แต้อารักษ์


ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นท้าทายของกลไก กขป. คือการเชื่อมต่อคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกลไกของการสานพลัง รวมไปถึงกระบวนการนโยบายสาธารณะอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ พร้อมกันนั้นอาจต้องมาร่วมกันทบทวนถึงองค์ประกอบของ กขป. รวมทั้งเครื่องมือต่างๆ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ว่าตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ยังคงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมภายใต้สถานการณ์ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้เพียงใด
 

เขตสุขภาพ


อนึ่ง ที่ประชุมในครั้งนี้ผู้แทน กขป. และผู้เข้าร่วมเวทีได้มีการร่วมกันเสนอความคิดเห็นมากมายในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนโครงสร้าง กระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการฯ การวางยุทธศาสตร์การทำงานรวมทั้งแนวทางการประเมินผลที่ชัดเจน การร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 การเชื่อมโยงระบบข้อมูลการทำงาน การสื่อสาร กขป. ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ ตลอดจนระบบการหนุนเสริมของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สธ. สช. สปสช. สสส. และ กทม. เป็นต้น
 

เขตสุขภาพ

 

รูปภาพ
เขตสุขภาพเพื่อประชาชน